นโยบายเศรษฐกิจสำคัญอย่างไร(14)

นโยบายเศรษฐกิจสำคัญอย่างไร(14)

นโยบายอุตสาหกรรม(ต่อ)
การเพิ่มประสิทธิภาพ
การเพิ่มประสิทธิภาพมีความสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจต่างๆ รวมทั้งภาคอุตสาหกรรม เมื่อประสิทธิภาพสูงขึ้น ต้นทุนย่อมลดลง และมีขีดความสามารถสูงขึ้น การเพิ่มประสิทธิภาพ จึงเป็นวัตถุประสงค์สำคัญอย่างหนึ่งของการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม
โดยทั่วไป ผลผลิตจะเพิ่มขึ้น เมื่อมีการใช้ปัจจัยการผลิต(ทุน แรงงาน และวัตถุดิบ)มากขึ้น แต่ในทางเศรษฐศาสตร์มีความคิดเรื่องผลิตภาพการผลิตรวม(total factor productivity)กล่าวคือ การเจริญเติบโตหรือการเพิ่มขึ้นของผลผลิต ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นจากมีการใช้ปัจจัยการผลิตมากขึ้นเท่านั้น ยังเกิดจากการมีประสิทธิภาพรวมเพิ่มขึ้น การทำให้ปัจจัยการผลิตต่างๆทำงานได้อย่างมีสิทธิภาพมากขึ้นด้วย การเจริญเติบโตหรือการเพิ่มผลผลิตในภาคอุตสาหกรรม เกิดได้จากปัจจัยอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการเพิ่มปัจจัยผลิต เช่น เทคโนโลยีที่สูงขึ้น ทักษะฝีมือแรงงานที่ดีขึ้น การบริหารจัดการที่ดี มีสิ่งสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก ที่ทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพ
การเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรม เกิดขึ้นได้จากการมีธุรกิจเกิดใหม่ มีผลิตภัณฑ์ใหม่ และมีการปรับปรุงคุณภาพ ทำให้สินค้าต่างๆ ใช้ประโยชน์ได้ดีขึ้น ในการนี้ ความสามารถทางเทคโนโลยีและกำลังคนมีส่วนสำคัญ นโยบายการพัฒนาเทคโนโลยี การฝึกอบรมพนักงานและคนงาน จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญ โดยมีนโยบายในการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและกำลังคนที่ชัดเจน และนำนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนั้น การเพิ่มประสิทธิภาพ ยังเกิดจากการเพิ่มประสิทธิภาพหรือการลดต้นทุน ที่นอกเหนือการควบคุมของภาคอุตสาหกรรม เช่น การลดอัตราภาษีอากร ปราบปรามพฤติกรรมทุจริตคอรัปชั่น ยกเลิกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ มีการควบคุมดูแลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยลดขั้นตอนที่ไม่มีความจำเป็นลง รวมทั้งการลดต้นทุนโลจิสติกส์
ต้นทุนโลจิสติกส์ หมายถึงต้นทุนที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่างๆ ทั้งในและนอกสถาบันประกอบการ ทั้งต้นทุน ในการพัฒนาสินค้า การผลิตการขนส่ง และการจัดจำหน่าย
ต้นทุนการผลิต คือ ต้นทุนที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต เช่น การเคลื่อนย้ายเครื่องจักรอุปกรณ์ วัตถุดิบ ชิ้นส่วน การจัดเก็บ การขนถ่ายสินค้าและสิ่งของอื่นๆภายในโรงงาน
เมื่อนำสินค้าออกจำหน่าย ก็มีต้นทุนการจัดจำหน่ายต่างๆ เช่น การโฆษณา การติดต่อสื่อสาร การบรรจุหีบห่อ การขนส่ง การกำกับดูแล การให้บริการระหว่างและหลังการขาย
จากข้อมูลที่รวบรวมโดยหน่วยงานของรัฐและเอกชนในประเทศไทย พบว่า ต้นทุนโลจิสติกส์ของภาคเศรษฐกิจต่างๆในไทย สูงกว่าประเทศอื่นโดยเฉลี่ย และสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วมาก
ในประเทศไทย การขนส่งสินค้า ส่วนมากทำโดยการขนส่งทางถนนด้วยรถบรรทุก ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการขนส่งทางรถไฟและทางนํ้ามาก นอกจากนั้น รถไฟไทยใช้ประโยชน์ในการขนส่งคนมากกว่าการขนของ โครงการสร้างทางรถไฟทางคู่ และการสร้างทางรถไฟเพื่อเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในโครงการ”หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ซึ่งเป็นนโยบายประเทศจีนที่เริ่มเมื่อสิบปีที่แล้ว ก็ดำเนินการล่าช้า ต้นทุนการขนส่งซึ่งมีส่วนสำคัญในต้นทุนโลจิสติกส์ในประเทศไทยจึงไม่ได้ลดลง
จากที่กล่าวมาข้างต้น เห็นได้ว่า ประสิทธิภาพของภาคอุตสาหกรรม มีความเกี่ยวโยงกับนโยบายและประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาล ตราบใดที่นโยบายการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมยังไม่ชัดเจน การดำเนินนโยบายไม่มีเอกภาพ ไม่ประสานงานกัน การเพิ่มประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมไทย ย่อมทำได้ยาก

การลงทุนต่างประเทศกับการพัฒนาอุตสาหกรรม
การลงทุนจากต่างประเทศ มีผลดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม การทดแทนการนำเข้าและส่งเสริมการส่งออก ได้รับอานิสงส์จากการลงทุนต่างประเทศ สินค้าอุตสาหกรรมไทยจำนวนมาก เกิดขึ้นได้จากการลงทุนต่างประเทศ
ในที่นี้ การลงทุนต่างประเทศ หมายถึงการลงทุนโดยตรง(direct investment) ซึ่งมีความแตกต่างกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์หรือการซื้อสินทรัพย์(portfolio investment) ที่ผู้ลงทุนไม่ได้เข้ามาก่อตั้งกิจการ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(foreign direct investment) คือ บุคคลหรือนิติบุคคลที่อยู่ในต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศเรา เพื่อผลิตสินค้าบริการหรือประกอบกิจการอื่น ตั้งโรงงานหรือสำนักงาน จ้างคนงาน นำเครื่องจักรอุปกรณ์และสินค้าอื่นเข้ามาจากต่างประเทศ และอาจมีการนำแรงงานที่มีความรู้ความชำนาญเข้ามาด้วย แต่ในการประกอบกิจการ มีการใช้ทรัพยากร แรงงาน สิ่งสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆในประเทศของเรา ก่อนหน้านี้ มีหลายประเทศที่ไม่ยินดีต้อนรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ คิดว่า ผู้ลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาแย่งใช้ทรัพยากร โดยอาศัยความรู้และเทคโนโลยีที่เหนือกว่า มากอบโกยกำไร การลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้อุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิม ต้องแข่งขันกับกิจการที่มาจากต่างประเทศ และสู้ไม่ได้จนอาจต้องเลิกกิจการไป บริษัทนานาชาติหรือบรรษัทข้ามชาติ(multinational enterprise) ขนาดใหญ่ มีเงินทุน และมีเทคโนโลยีสูงที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ มักคำนึงถึงผลประโยชน์ของตนเอง ไม่สนใจผลประโยชน์ของประเทศเจ้าบ้านมากนัก และอาจมีพฤติกรรมบางอย่างที่ส่งผลทำลายเศรษฐกิจของประเทศที่เขาเข้าไปลงทุน ความคิดที่มีต่อการลงทุนต่างประเทศได้เปลี่ยนไปมากในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ปัจจุบัน ประเทศส่วนใหญ่ในโลก พากันต้อนรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เห็นว่า การลงทุนจากต่างประเทศมีประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างรายได้ การจ้างงาน ผลิตสินค้าทดแทนการ นำเข้า ถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่บุคลากรภายในประเทศ ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก มีการส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศ โดยการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้ในช่วงแรกของการลงทุน ยกเว้นภาษีศุลกากรการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์ สินค้าขั้นกลางและวัตถุดิบ อนุญาติให้ซื้อที่ดิน อาคาร รวมทั้งอนุญาตให้นำบุคลากรผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาได้ และสามารถส่งเงินกำไรกลับไปต่างประเทศได้ ในบางประเทศ รัฐบาลประเทศรับการลงทุน ยังให้ความสนใจการลงทุนต่างชาติ หลังจากที่เขาเข้ามาลงทุนแล้ว ให้ความช่วยเหลือดูแล ขจัดอุปสรรคต่างๆ เมื่อเขาต้องประสบกับปัญหา อย่างไรก็ตาม ถ้าประเทศที่ส่งเสริมการลงทุนไม่มีความมั่นคง ไม่มีเสถียรภาพ ไม่มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศที่ชัดเจน ขาดแคลนสิ่งสาธารณูปโภค ค่าจ้างแรงงานสูงแต่แรงงานมีคุณภาพต่ำ เจ้าหน้าที่รัฐมีการทุจริตคอรัปชั่น แม้ให้สิทธิประโยชน์ให้แก่นักลงทุนมาก ก็จะไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมาลงทุน ประเทศที่มีศึกสงคราม หรือมีความขัดแย้งรุนแรง ก็ไม่มีใครกล้าเข้าไปลงทุน ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลไทยโดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน มีการเสนอสิทธิประโยชน์ให้แก่นักลงทุนต่างชาติ ที่มากกว่าประเทศอื่นโดยเฉลี่ย แต่ไม่สามารถดึงดูดการลงทุนต่างประเทศมากเท่ากับประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่มั่นคงทางการเมือง มีความขัดแย้งระหว่างประชาชนที่มีความเชื่อทางการเมืองแตกต่างกัน มีการชุมนุมประท้วง จนบางครั้งมีเหตุการณ์ปะทะกันรุนแรง ประโยชน์ที่สำคัญของการลงทุนต่างประเทศประการหนึ่ง คือ ทำให้ ประเทศผู้รับการลงทุน สามารถใช้เทคโนโลยีก้าวหน้าที่มีการพัฒนาแล้วมาใช้ประโยชน์ บริษัทต่างชาติเมื่อเข้ามาลงทุน จะนำเทคโนโลยีเข้ามาด้วย ประเทศที่รับการลงทุนสามารถใช้เทคโนโลยีนี้ผลิตสินค้าและบริการ สร้างรายได้ การจ้างงานในประเทศ ทำให้ประหยัดเงินตราต่างประเทศจากการลดการนำเข้าและสร้างรายได้เงินตราต่างประเทศจากการส่งสินค้าออกได้ ประเทศที่มีการลงทุนจากต่างประเทศ ได้รับประโยชน์จากการเป็นผู้มาทีหลัง คือใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วได้ โดยไม่ต้องพัฒนาขึ้นมาเอง กล่าวคือ ประเทศรับการลงทุน สามารถใช้เทคโนโลยีที่มีการพัฒนามาแล้วจากต่างประเทศมาผลิตสินค้าและบริการ ที่เดิมไม่สามารถผลิตได้ ทำให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น คือ เป็นประเทศที่ได้ประโยชน์จากการเป็นผู้มาทีหลัง ( มี late-comer's advantage) อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีต่างประเทศจะมีประโยชน์ต่อประเทศผู้รับการลงทุนมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับนโยบาย หากได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากนักลงทุนต่างชาติอย่างมีประสิทธิภาพ มีการปรับปรุงเทคโนโลยีนำเข้าให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ ใช้เทคโนโลยีนำเข้านั้นเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีของตน จะได้รับประโยชน์มาก แต่ถ้าไม่สนใจ หรือไม่มีความพร้อมในการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ก็จะรับประโยชน์จากเทคโนโลยีของนักลงทุนต่างประเทศได้ไม่มาก

โดยทั่วไป ประเทศกำลังพัฒนา มักมีความสามารถรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่จำกัด การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากนักลงทุนต่างประเทศ จึงไม่สู้จะมีประสิทธิภาพ หากประเทศที่ได้รับการลงทุนต้องการมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องพยายามส่งเสริมการวิจัยพัฒนาและการฝึกทักษะฝีมือแรงงาน มีสิ่งจูงใจที่จะทำให้นักลงทุนต่างชาติทำการถ่ายทอดเทคโนโลยี
การพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทยได้ประโยชน์จากการลงทุนต่างประเทศ และเทคโนโลยีที่นำเข้าในการผลิตสินค้าและบริการ แต่การศึกษาในเวลาที่ผ่านมา พบว่าภาคอุตสาหกรรมไทย ยังมีขอบเขต รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีได้จำกัด
เทคโนโลยีต่างประเทศ ส่งผ่านมาได้หลายช่องทาง : จากการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์ จากการการเรียนรู้และดูแบบอย่างผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติ จากการฝึกอบรมคนงานให้มีความรู้ทักษะในการใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ และจากโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นกิจลักษณะ
การลงทุนต่างประเทศในไทย มีการนำเครื่องจักรอุปกรณ์จากต่างประเทศ และฝึกอบรมให้คนงานไทยรู้จักใช้เครื่องจักรอุปกรณ์นี้ แต่มักไม่มีโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นกิจลักษณะ เทคโนโลยีที่นำมาจากต่างประเทศ ก็ไม่มีการพัฒนาหรือปรับปรุงแต่อย่างใด
สาเหตุที่จำกัดขอบเขตการถ่ายทอดเทคโนโลยีในประเทศไทย มีอยู่หลายอย่าง ผลการศึกษาที่ผ่านมา พบว่า กิจการการลงทุนต่างประเทศ ที่มีนักลงทุนท้องถิ่นร่วมทุน มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอยู่บ้าง กิจการที่ชาวต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ มีการฝึกอบรมความรู้ทักษะที่จำเป็นต่อการใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ แต่ไม่มีการวิจัยและพัฒนา เพราะพึ่งพาเทคโนโลยีจากบริษัทแม่ได้
ขอบเขตการถ่ายทอดเทคโนโลยี เปลี่ยนไปตามกลยุทธ์ของผู้ลงทุน หากผู้ลงทุนมีจุดมุ่งหมายที่จะขยายการผลิต และลดการนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์จากต่างประเทศ ก็จะมีกิจกรรมการถ่ายทอดเทคโลโลยีมากขึ้น ปัจจัยอีกอย่าง คือ ความสามารถหรือสมรรถภาพที่จะรับการถ่ายทอด (absorbtive capacity) ซึ่งหมายถึง การมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการถ่ายทอดเทคโนโลยี และคนงานท้องถิ่นมีความรู้ทักษะ พร้อมที่จะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีได้
ข้อจำกัดสำคัญของการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างหนึ่ง คือ ความปรารถนาที่จะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีของผู้ร่วมทุนที่เป็นคนไทย ผู้ร่วมทุนไทยในบริษัทที่มีการลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมาก หวังเพียงได้รับส่วนแบ่งกำไรจากการร่วมทุน แต่ไม่หวังรับประโยชน์ จากการเรียนรู้เทคโนโลยีจากผู้ลงทุนต่างประเทศมากนัก คิดว่า ถึงอย่างไรก็ไม่สามารถตั้งกิจการขึ้นมาแข่งขันกับผู้ลงทุนต่างประเทศได้ จึงไม่มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ และพัฒนาเทคโนโลยี
ข้อจำกัดอีกอย่าง คือ ข้อจำกัดทางด้านภาษาต่างประเทศ ในบริษัทที่มีการลงทุนจากญี่ปุ่น การปฎิบัติงานมักไม่มีคู่มือประกอบ แต่ใช้วิธีการสอนหรือชี้แจงในระหว่างทำงาน คนงานไทยจำนวนมากไม่มีความรู้ภาษาญี่ปุ่น จึงไม่สามารถเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ บริษัทต่างชาติส่วนใหญ่ไม่นิยมจ้างคนงานที่มีความรู้ระดับสูง หรือแม้มี ก็มีน้อย การขาดแคลนบุคลากรที่สามารถเรียนรู้ จึงเป็นอุปสรรคประการหนึ่งในการถ่ายทอดเทคโนโลยี
บริษัทที่มีการลงทุนจากต่างประเทศบางแห่ง มีการฝึกอบรมระยะสั้น หรือส่งคนงานไปอบรมในต่างประเทศเพื่อเรียนรู้วิธีทำงานในบริษัทแม่ แต่ก็ไม่ได้เป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นกิจลักษณะ
นโยบายของรัฐบาลไทยที่รับการลงทุนต่างประเทศ มีส่วนสำคัญต่อ ประสิทธิภาพของการถ่ายทอดเทคโนโลยี รัฐบาลไทยแต่ละสมัย ล้วนมีนโยบายชักชวนการลงทุนต่างประเทศ ในบางสมัย มีการให้สิ่งจูงใจโดยมีสิทธิประโยชน์แก่การฝึกอบรมคนงาน และการวิจัยพัฒนาด้วย แต่รัฐบาลส่วนมาก มักไม่ได้ให้ความสนใจที่จะส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการวิจัยพัฒนาในสถานประกอบการ

นโยบายส่งเสริมและใช้ประโยชน์การลงทุนต่างประเทศ
-ปรับปรุงบรรยากาศการลงทุน
-มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศที่เหมาะสม
-ใช้ประโยชน์จากการลงทุนต่างประเทศ ในการพัฒนาเศรษฐกิจด้านต่างๆ
-ส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยี ฝึกอบรมแรงงาน ใช้การลงทุนต่างประเทศเอื้อประโยชน์ต่อการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม
-กำกับดูแลกิจการที่มีการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของเขา
ในที่นี้ จะกล่าวเพียงเรื่องบรรยากาศการลงทุนและนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ โดยสังเขป

บรรยากาศการลงทุน
บรรยากาศการลงทุน เป็นปัจจัยสำคัญต่อการลงทุนจากต่างประเทศ ผู้ลงทุนต่างประเทศ มีเกณฑ์การพิจารณาประเทศที่เขาจะไปลงทุนหลายประการคือ:
-ความมั่นคงและเสถียรภาพของเศรษฐกิจสังคมและการเมือง
-ทัศนคติและนโยบายที่มีต่อการลงทุนต่างประเทศ
-กฎหมาย กฏระเบียบ และนโยบายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
-ความพร้อมของปัจจัยการผลิตที่สำคัญ
-อุตสาหกรรมและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องและสนับสนุน
-สิ่งสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก
-สิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุน
ความมั่นคงและเสถียรภาพ เป็นสิ่งสำคัญในอันดับต้นๆ ที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ ประเทศที่มีศึกสงคราม มีความขัดแย้งกันมากไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง เช่นเศรษฐกิจตกต่ำ เงินเฟ้อสูง อาชญากรรมสูง มีการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย และเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล นโยบายการลงทุนต่างประเทศก็จะเปลี่ยนไป ประเทศเหล่านี้มักดึงดูดการลงทุนต่างประเทศได้ไม่มาก ผู้ลงทุนต้องการความมั่นคงในการดำเนินธุรกิจ ถ้าการเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้ทำให้สถานการณ์ธุรกิจมีความไม่มั่นคง เขาก็จะไม่เข้ามาลงทุน
อีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการชักชวนการลงทุนต่างประเทศ คือ ทัศนคติของรัฐบาลและประชาชนที่มีต่อชาวต่างชาติ หากประชาชนมีทัศนคติที่ไม่เป็นมิตรต่อชาวต่างชาติ รัฐบาลมีความระแวงต่อการลงทุนต่างประเทศ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศสังคมนิยมบางประเทศ บริษัทต่างชาติก็จะไม่เข้าไปลงทุน
เหตุจูงใจของการออกไปลงทุนในต่างประเทศ คือ การขยายขอบเขตการประกอบการ การได้รับผลตอบแทนหรือกำไร ผู้ลงทุนต่างประเทศในกิจการแต่ละประเภท มีจุดเน้นที่แตกต่างกัน เช่น ขยายตลาดสินค้า ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศที่เข้าไปลงทุน มีประสิทธิภาพมากขึ้น (เช่น เสริมสร้างความสามารถในการผลิตและการจัดการที่มีอยู่เดิม) แสวงหาเทคโนโลยีที่ยังขาดอยู่ ใช้เครือข่ายการจำหน่ายระดับภูมิภาค และใช้ประโยชน์จากกิจกรรมหรืออุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องที่มีอยู่ในประเทศที่เขาเข้าไปลงทุน
นอกจากนั้น การออกไปลงทุนในประเทศอื่น อาจเกิดจากข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจภายในประเทศของผู้ลงทุนเอง เช่น ขาดแคลนแรงงาน มีค่าจ้างแรงงานสูง มีกฎระเบียบที่เข้มงวด (เข่น มีการควบคุมมลภาวะ และการป้องกันการผูกขาด) มีข้อจำกัดการส่งออกที่เกิดจากการกีดกันการนำเข้าของประเทศคู่ค้า ฯลฯ
ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบหลายประการในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ: มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ตั้งอยู่จุดกึ่งกลางกลุ่มประเทศอาเซียน มีสิ่งสาธารณูปโภคที่พร้อมมูลกว่า มีประสบการณ์การพัฒนาอุตสาหกรรมในเวลาที่ยาวนานกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอินโดจีน ประชาชนมีทัศนคติที่ดีต่อชาวต่างชาติ รัฐบาลให้ความสนใจส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศ แม้เปลี่ยนรัฐบาล นโยบายต้อนรับนักลงทุนต่างประเทศก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง จากค.ศ.1960 ที่เริ่มมีการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ จนถึงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในค.ศ. 1997 มีการเปลียนรัฐบาลบ่อยครั้ง แต่เศรษฐกิจ สังคม การเมืองในเวลาส่วนใหญ่มีความมั่นคง การลงทุนต่างประเทศ ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาหลายปีก่อนการรัฐประหารในปีค.ศ. 2015 สถานการณ์เศรษฐกิจ การเมือง และสังคมไทย เสื่อมถอยลงไปมาก ความคิดทางการเมืองที่ขัดแย้งกันในหมู่ประชาชน ทำให้บ้านเมืองมีความไม่สงบ จึงไม่มีใครกล้าเข้ามาลงทุน
หลังรัฐประหาร บ้านเมืองสงบลง รัฐบาลไทยเสนอสิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุนแก่นักลงทุนต่างชาติมากขึ้น มีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่ผู้ลงทุนที่ยาวนานกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ แต่ก็ไม่สามารถดึงดูดการลงทุนต่างประเทศได้มากนัก ประเทศเพื่อนบ้านเช่น เวียดนามและอินโดนีเซีย ซึ่งก็มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ และมีการส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศ มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอัตราที่สูงกว่า และมีสภาวะทางสังคมและการเมืองที่มั่นคงกว่า สามารถดึงดูดการลงทุนต่างประเทศได้มากกว่า แม้จะให้สิทธิการยกเว้นภาษีเงินได้ที่น้อยกว่าก็ตาม
การกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกาต่อจีน ทำให้อุตสาหกรรมจีนบางประเภท ย้ายฐานการผลิตมาประเทศอาเซียน เวียดนามสามารถดึงดูดการลงทุนจากจีนได้มาก จากการมีที่ตั้งติดกับจีน อินโดนีเซีย ซึ่งมีตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่ ก็ดึงดูดการลงทุนจากจีนได้ไม่น้อย อาจกล่าวได้ว่า ข้อได้เปรียบทางบรรยากาศการลงทุนของไทย เมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนอื่น ในปัจจุบันได้ลดลงมาแล้ว

นโยบายส่งเสริมการลงทุน
การลงทุนจากต่างประเทศ จะมีประโยชน์ต่อประเทศผู้รับการลงทุน มากน้อยเพียงไร ขึ้นอยู่กับประเภทและลักษณะของอุตสาหกรรมที่เข้ามาลงทุน พฤติกรรมของผู้ลงทุน และนโยบายของประเทศผู้รับการลงทุน
ด้วยความเชื่อที่ว่า การลงทุนต่างประเทศให้ประโยชน์แก่เศรษฐกิจหลายประการ รัฐบาลไทยทุกสมัยจึงให้ความสำคัญ กับการชักชวนการลงทุนจากต่างชาติ มีการให้สิทธิประโยชน์ที่เท่าเทียมหรือมากกว่าธุรกิจของคนไทย ให้หลักประกันและให้การคุ้มครอง เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ทุนต่างประเทศ
พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน ให้หลักประกันนักลงทุนต่างชาติหลายประการ เช่น ไม่โอนกิจการมาเป็นของรัฐ ไม่ประกอบกิจการใหม่ขึ้นมาแข่งขัน ไม่ควบคุมราคา ไม่จำกัดการส่งออก อนุญาตให้ผู้ลงทุนต่างประเทศนำบุคลากรเข้ามา นำเข้าหรือส่งออกเงินตราต่างประเทศโดยไม่มีข้อจำกัด
นอกจากนี้ ยังมีการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีอากร เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในการลงทุนที่เข้ามาใหม่ และการขยายการลงทุน ที่มีอยู่เดิมเป็นเวลาสามถึงแปดปี (ต่อมามีการขยายการยกเว้นภาษีเงินได้ ให้มีระยะเวลายาวนานกว่านี้) ยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้าและภาษีการค้าในเครื่องจักรอุปกรณ์ ชิ้นส่วนและวัตถุดิบ ห้ามการนำเข้าในผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกัน (เมื่อสำนักงานส่งเสริมการลงทุนเห็นควร) สำหรับกิจการผลิตสินค้าออก จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมอีกหลายประการ ตามกฎหมายส่งเสริมการส่งออกในสินค้าอุตสาหกรรม แม้รัฐบาลสนับสนุนให้นักลงทุนต่างชาติร่วมลงทุนกับนักธุรกิจไทย แต่ก็อนุญาตนักลงทุนต่างชาติถือหุ้นทั้งหมดได้
ในปัจุบัน นโยบายการส่งเสริมการลงทุนอย่างหนึ่งที่ผู้ลงทุนให้ความสนใจ คือ กฎระเบียบในการปกป้องคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา (intellectual property rights protection) ประเทศผู้รับการลงทุนต้องให้หลักประกันว่า จะไม่ลอกเลียนแบบหรือ”ขโมย”เทคโนโลยีที่เขานำเข้ามา แต่ส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีได้ด้วยมาตรการจูงใจ และปรับปรุงขีดความสามารถหรือสมรรถภาพของบุคลากรในประเทศตน โดยไม่ละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของเขา
แม้ประเทศส่วนใหญ่ในโลก มีทัศนคติที่ดีต่อการลงทุนต่างประเทศ เห็นว่าการลงทุนจากต่างประเทศ มีประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ใช่ว่า การรับการลงทุนต่างประเทศเป็นประโยชน์เสมอไป ในบางกรณี การลงทุนจากต่างประเทศ ก็สร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจ ของประเทศรับการลงทุนได้มาก เช่น กิจการต่างประเทศที่เข้ามาลงทุน มีการผลิตสินค้าชนิดเดียวกันหรือทดแทนได้กับสินค้าที่เดิมมีการผลิตในประเทศ ทำให้สถานประกอบการในประเทศจำนวนมากไม่สามารถแข่งขันกับนักลงทุนต่างประเทศ จนต้องเลิกกิจการไป นักลงทุนต่างประเทศ อาจอาศัยการมีเงินทุนมากกว่า มีเทคโนโลยีที่เหนือกว่า มา กอบโกยผลประโยชน์ เช่น มีการครอบงำในสาขาธุรกิจต่างๆ มีอำนาจผูกขาด ใช้ทรัพยากรณ์ประเทศที่รับการลงทุน โดยจ่ายผลตอบแทนต่ำมาก ใช้เทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสม ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันกับสินค้าที่มีการผลิตอยู่เดิม แต่ใช้ปัจจัยทุนสัดส่วนสูง ทำให้มีการจ้างแรงงานน้อยกว่าเดิม
ถ้าไม่มีการควบคุม ผู้ลงทุนอาจมีการตั้งราคาโอน (transfer pricing) คือ ตั้งราคาสินค้าออกต่ำกว่าความเป็นจริง และตั้งราคาสินค้าเข้าสูงกว่าความเป็นจริง ทำให้ประเทศรับการลงทุนต้องสูญเสียเงินตราต่างประเทศ แทนที่จะรับเงินตราต่างประเทศจากส่งออก การตั้งราคาโอน ทำให้ผู้ลงทุนต่างชาติ ส่งเงินตราต่างประเทศออกไปได้โดยไม่ต้องขออนุญาต และทำให้กำไรทางบัญชีต่ำกว่าที่เป็นจริงและเสียภาษีน้อยลง
อีกปัญหาหนึ่งที่สร้างผลเสียให้แก่ประเทศผู้รับการลงทุนคือการสร้างมลภาวะ ผู้ลงทุนต่างประเทศที่มีบริษัทแม่อยู่ในประเทศที่เข้มงวดในการตรวจสอบและปราบปรามการก่อมลภาวะ จะย้ายอุตสาหกรรมหรือขั้นตอนการผลิตที่ก่อมลภาวะมาก ไปลงทุนในประเทศที่มีกฎระเบียบการจำกัดมลภาวะไม่เข้มงวด เพื่อความอยู่รอดและขยายการผลิตต่อไปได้
ผลประโยชน์จากการนำเข้าเงินตราต่างประเทศ ก็อาจมีไม่มาก โดยทั่วไป ผู้ส่งทุนต่างประเทศ จะนำเงินตราต่างประเทศเข้า ในระยะแรกของการลงทุน แต่ในระยะยาว เงินตราต่างประเทศที่ส่งออกไปเป็นผลกำไร อาจมีมากกว่าเงินทุนที่เขานำเข้ามาในระยะแรกหลายเท่า
ดังนั้น การรับการลงทุนจากต่างประเทศ จึงไม่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจเสมอไป การลงทุนต่างประเทศ ทำให้บริษัทต่างชาติ มาใช้แรงงาน ทรัพยากร สิ่งสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกในประเทศเราได้ โดยได้รับสิทธิประโยชน์มากมาย ถ้าประเทศรับการลงทุน ไม่มีนโยบายที่เหมาะสม ก็อาจจะได้ประโยชน์ไม่มากหรือถึงกับเสียประโยชน์ ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม นโยบายส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศที่เหมาะสม รู้จักส่งเสริมอุตสาหกรรมและกิจกรรมที่สร้างประโยชน์มาก แต่ให้โทษน้อย รู้จักควบคุมพฤติกรรมของนักลงทุนต่างชาติ ไม่ให้สร้างความเสียหาย ใช้เทคโนโลยีเขาให้เป็นประโยชน์ การลงทุนต่างประเทศก็เป็นประโยชน์ได้
การลงทุนจากต่างประเทศ สร้างประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจได้หลายด้าน เช่น การได้เงินทุนจากประเทศ สร้างรายได้และการจ้างงาน ผลิตสินค้าทดแทนการนำเข้าและส่งออก ประโยชน์ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือเทคโนโลยีของบริษัทต่างประเทศ ทำให้สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ มาพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปรับปรุงความสามารถทางด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรม ทำให้สถานประกอบการและบุคลากรในประเทศรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีได้เต็มที่ แต่ประโยชน์ของการลงทุนจากต่างประเทศเหล่านี้ อาจไม่เกิดขึ้น หรือถ้ามีก็มีไม่มากนัก หากไม่มีนโยบายที่เหมาะสม
โดยสรุปบรรยากาศ การลงทุนที่ดี เป็นปัจจัยที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้ดี โดยไม่จำเป็นต้องเสนอผลประโยชน์มากมายให้แก่นักลงทุนต่างประเทศ

ประเทศไทยใช้ประโยชน์จากการลงทุนต่างได้อย่างไร?
การลงทุนจากต่างประเทศ สามารถช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทยได้มาก ไม่เพียงภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาภาคเกษตรและภาคบริการ ก็ใช้ประโยชน์จากการลงทุนต่างประเทศได้
ในภาคอุตสาหกรรม กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งอุตสาหกรรมเดิม และอุตสาหกรรมใหม่ การลงทุนและเทคโนโลยีต่างประเทศ มีส่วนช่วยในการพัฒนาได้มาก
เทคโนโลยีใหม่ เช่น เอไอ(artificial intelligence) ดิจิตัล(digital technology)ที่มาพร้อมกับการลงทุนต่างประเทศ สามารใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจได้มาก นโยบายต่างๆของประเทศไทย เช่น การพัฒนาพลังงานทดแทน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การคุ้มครองสภาพแวดล้อม การพัฒนารถพลังงานไฟฟ้า การส่งเสริมการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม และการพัฒนาแรงงาน หากมีนโยบายการลงทุนต่างประเทศที่เหมาะสม ล้วนใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เข้ามาพร้อมกับการลงทุนต่างประเทศได้ทั้งสิ้น อย่างไรก็ดี ในการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายของนโยบายเหล่านี้ ทั้งรัฐบาล ธุรกิจ และประชาชนไทยควรเป็นกำลังหลัก การลงทุนจากต่างประเทศเป็นได้เพียงกำลังเสริม และต้องมีการควบคุมดูแลไม่ให้การลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาสร้างผลเสียแก่เศรษฐกิจและสังคมไทย

ใส่ความเห็น