การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ความสำคัญของทรัพยากรมนุษย์

คนหรือทรัพยากรมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ ในประวัติศาสตร์จีน มีตัวอย่างของคนดีคนเก่งที่ทำให้ประเทศมีความเจริญรุ่งเรืองหลายคน บางคนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง จนถึงปัจจุบัน เช่น ก่วนจ้ง(管仲) ขุนนางคนสำคัญในยุคชุนชิว(春秋) และขงเบ้ง (孔明) ในสมัยสามก๊ก(三国时代) เป็นต้น

ก่วนจ้งทำให้รัฐฉีฉี มีความเจริญรุ่งเรืองทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ก้าวขึ้นมาเป็นรัฐมหาอำนาจในสมัยนั้น

ขงเบ้ง ช่วยให้เล่าปี่ (刘备) มีกองกำลังที่เข้มแข็ง สร้างฐานอำนาจ จนเป็นรัฐหรือก๊กหนึ่งในสามก๊ก

ในสมัยปัจจุบัน หลังการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจ ของประเทศจีนในปลายทศวรรษ 1970 เติ้งเสี่ยวผิง(邓小平) ผู้นำการปฏิรูป ได้เชิญนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการที่ถูกลงโทษ ถูกลดบทบาทในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรมให้กลับเข้าทำงานใหม่ รื้อฟื้นระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย คัดเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถเข้าทำงานในส่วนราชการต่างๆ ทำนโยบายปฏิรูปนำไปสู่การปฏิบัติอย่างได้ผล ประเทศจีนสามารถเปลี่ยนจากประเทศยากจน ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพียง 156 ดอลลาร์สหรัฐ(ต่ำกว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลกรวมทั้งประเทศในแอฟริกา) เป็นประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวกว่า 12,500 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 80 เท่าตัว และมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติมากเป็นที่สองของโลก ในเวลาไม่ถึง 40 ปี

ในประเทศไทย สมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์เป็นนายกรัฐมนตรี มี ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ดูแลการเงินการคลังของประเทศ ทำให้เศรษฐกิจไทยพัฒนาได้ดี สามารถสะสมทุนสำรองเงินตราต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก ต่อมาในสมัยที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี มี ดร.เสนาะ อุณากูล เป็นผู้อำนวยการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดำเนินนโยบายการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นมามาก

ในปีค.ศ. 1997 ประเทศไทยประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ จากการมีนโยบายการเงินผิดพลาด หลังจากนั้น มีการปรับปรุงนโยบาย ทำให้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวขึ้นมาบ้าง แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล นโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เคยมีการศึกษาและริเริ่มในรัฐบาลก่อนถูกยกเลิกไป เปลี่ยนมาเป็นนโยบายประชานิยม และเกิดการทุจริตคอรัปชั่นมากมาย สร้างความเสียหายต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจแก่ประเทศไทยจนทุกวันนี้

ตลอดเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรัฐบาลหลายชุด แต่ส่วนใหญ่ เราได้รัฐบาลไม่ดี ได้ผู้บริหารประเทศที่ไม่มีความรู้ความสามารถ และมีพฤติกรรมทุจริตคอรัปชั่น สถานการณ์เศรษฐกิจสังคม และการเมืองของประเทศไทยจึงเสื่อมถอยลงจนถึงบัดนี้ยังไม่มีการปรับปรุง รัฐบาลชุดปัจจุบัน ก็มีนโยบายในลักษณะประชานิยม ซึ่งจะมีผลทำให้ประเทศขาดความมั่นคงทางการเงินการคลัง และอาจนำไปสู่การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในอนาคต

คุณภาพของบุคลากร โดยเฉพาะนักการเมืองที่เป็นผู้กำหนดและบริหารนโยบาย มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ แต่ทรัพยากรมนุษย์ด้านอื่นๆ ทั้ง ข้าราชการระดับต่างๆ ผู้ประกอบการ พนักงาน คนงานในสถานประกอบการเอกชน และประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วไแในภาคเศรษฐกิจต่างๆ ล้วนมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ แต่ถ้าเรามีรัฐบาลไม่ดี ไม่ใช้คนที่มีความรู้ความสามารถและมีจริยธรรมช่วยขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญๆ และยังไม่มีนโยบายในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ชัดเจนแล้ว อนาคตของประเทศก็น่าเป็นห่วง

ในปัจจุบัน วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การใช้เทคโนโลยี ให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศเป็นสิ่งสำคัญ ประเทศต้องมีคนที่มีความรู้ความสามารถในการใช้เทคโลยีให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา รวมทั้งต้องมีการพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สนับสนุนให้มีการทำวิจัยและพัฒนาที่มากพอ หากไม่มีนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และไม่มีนโยบายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่มีประสิทธิภาพแล้ว ประเทศย่อมความล้าหลัง

ดร. ซุนยัดเซ็น(孙中山) ผู้นำการเปลี่ยนการปกครองของประเทศจีนยุคใหม่ กล่าวว่า ประเทศจะมีความเจริญได้ ต้องสามารถใช้ประโยชน์ จากมนุษย์ ที่ดิน ทรัพยากร และสิ่งของต่างๆที่มีอยู่ได้เต็มที่ มีการค้าขาย เคลื่อนย้ายสินค้าได้คล่องตัว (人尽其才 地尽其利 物尽其用 货畅其流) แต่การจะใช้ทรัพยากรและสิ่งของต่างๆให้เป็นประโยชน์เต็มที่นั้น ล้วนต้องใช้คน ทรัพยากรมนุษย์ จึงเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมาก ต่อการพัฒนาประเทศ

การใช้ประโยชน์และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

เรื่องการใช้ประโยชน์และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีการพูดถึงบ้างแล้วในบทความอื่น ในที่นี้ จะกล่าวสรุปเพียงบางเรื่องที่มีความสำคัญ คือ:

ก. คุณภาพของรัฐบาล

ข. การศึกษา

ค. การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี

ง. ผลตอบแทนและสิ่งจูงใจในการทำงาน

จ. การส่งคนไปศึกษาและฝึกงานในต่างประเทศ

ฉ. การใช้ประโยชน์จากชาวต่างชาติ

ช. การถ่ายทอดเทคโนโลยี

ซ. กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ

ฌ.บทบาทของสถาบัน สถานประกอบการ และประชาชน

คุณภาพรัฐบาล

แต่ละประเทศ มีทั้งคนดีและคนไม่ดี คนเก่งและคนไม่เก่ง ถ้ามีรัฐบาลที่รู้จักใช้คนเก่งคนดี การพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองการปกครอง ก็จะทำได้ดี แต่ถ้ามีรัฐบาลไม่ดี มีบุคลากรที่ไม่มีคุณภาพ และไม่ซื่อสัตย์สุจริต รัฐบาลก็จะไม่ใช้คนเก่งคนดี และไม่สามารถพัฒนาบุคลากรประเภทต่างๆ ขึ้นมาปฏิบัติงานได้ ดังเช่นตัวอย่างในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรมในประเทศจีน ที่รัฐบาลใช้คนที่ไม่มีความรู้ความสามารถ แต่มีความคิดสอดคล้องกับผู้นำประเทศในสมัยนั้น มาดำรงตำแหน่งระดับสูงในรัฐบาล ขณะเดียวกันก็กวาดล้างผู้มีความคิดต่าง รวมทั้งลงโทษนักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์ ที่มีความคิดขัดกับรัฐบาล หลายคนถูกปลดออกจากงาน ถูกคุมขัง และถูกทรมาน จนบางคนถึงกับฆ่าตัวตาย สภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศจีนในเวลานั้น จึงมีความวุ่นวายมาก เศรษฐกิจถดถอย ประชาชนมีความเป็นอยู่แร้นแค้น อดอยากยากจน แต่หลังจากที่ เหมาเจ๋อตง(毛译东) เสียชีวิตแล้ว ประเทศจีนมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายไปสู่การปฏิรูป และเปิดประเทศทางเศรษฐกิจ มีคนดีคนเก่งเข้ามาบริหารประเทศ ปรับปรุง วิธีสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย และเข้ารับราชการ ส่งเสริมการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีโนโลยีและกำลังคน เป็นต้น การพัฒนาต่อเนื่องกันหลายสิบปี ทำให้เศรษฐกิจจีนพัฒนาขึ้นมาก จนก้าวขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจชั้นนำของโลกในปัจจุบัน

ในศตวรรษที่ 21 ประเทศไทยมีรัฐบาลหลายชุด แต่เวลาส่วนใหญ่ได้รัฐบาลไม่ดี ไม่ได้ใช้คนดีคนเก่งมาช่วยบริหารประเทศ นักการเมืองไม่มีความรู้ความสามารถ แต่มีการทุจริตคอรัปชั่น กำหนดนโยบาย ออกกฎหมายและกฎระเบียบเพื่อประโยชน์ของตนเอง ธุรกิจครอบครัวและพวกพ้อง และไม่มีนโยบายพัฒนากำลังคนที่ชัดเจน สถานะทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศ จึงเสื่อมถอยลงตามลำดับ

ระบบการศึกษา

การศึกษามีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ระบบการศึกษาที่ดี สร้างคนดีคนเก่งที่มีจริยธรรมได้ ในยุคที่เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้า ทรัพยากรมนุษย์ที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้มีความสำคัญ ต่อการพัฒนา หลักสูตรการศึกษาในระดับต่างๆ ก็ต้องเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย

ในสมัยนี้ การศึกษาที่สร้างผู้มีความรู้ความสามารถ ด้านภาษา คณิตศาสตร์ วิศวกรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี มีความจำเป็นต่อการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี นอกจากการศึกษาในชั้นเรียนแล้ว ยังควรส่งเสริมนักเรียนนักศึกษาให้มีโอกาสฝึกงาน เพื่อสามารถใช้วิชาความรู้ที่เรียนมาในการทำงานจริง

นอกจากการเล่าเรียนความรู้ทางวิชาการแล้ว ระบบการศึกษาที่ดี ยังมีส่วนส่งเสริมการสร้างประชาชนที่มีคุณภาพ มีศีลธรรม และมีมารยาท หากมีการอบรมสั่งสอนในด้านจริยธรรม ในอนาคต ประเทศเราก็จะมีนักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ และประชาชนทุกสาขาวิชาชีพที่มีคุณธรรม การทุจริตคอรัปชั่น โกงบ้านโกงเมืองที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ก็จะลดน้อยลงไปด้วย

การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี

ในปัจจุบัน เทคโนโลยีการสื่อสารมีความเจริญก้าวหน้า อุปกรณ์การสื่อสารคมนาคม สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนามนุษย์ได้ การฝึกอบรมออนไลน์ การทำสารคดีเผยแพร่คำแนะนำการดูแลรักษาสุขภาพ และการป้องกันภัยพิบัติ การสื่อสารให้ประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนเป็นคนมีจริยธรรม ซื่อสัตย์สุจริต รู้จักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ทำได้สะดวกขึ้น บริการการเรียนการสอนและการรักษาพยาบาลก็ทำเป็นแบบเคลื่อนที่ให้บริการแก่นักเรียนในพื้นที่ห่างไกลได้

ผลตอบแทนและสิ่งจูงใจในการทำงาน

การมีผลตอบแทนในการทำงานที่เหมาะสม และสิ่งจูงใจในการทำงาน มีความสำคัญต่อการได้คนดีคนเก่งมาทำงาน หากเรียนวิชาหนึ่งต้องใช้เวลานานด้วยความลำบาก แต่เรียนจบแล้วหางานทำไม่ได้ หรือได้งานมีผลตอบแทนไม่ดี คนส่วนใหญ่ก็มักไม่เรียนวิชานั้น นอกจากจะไม่มีทางเลือกอื่น

ในทศวรรษ 1950 มีนักวิทยาศาสตร์เชื้อสายจีนสองคนที่เรียนวิชาฟิสิกส์ในอเมริกา ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ นักเรียนจีนในอเมริกา ในสมัยนั้น ก็พากันไปเรียนวิชาฟิสิกส์ แต่ต่อมา พบว่าคนที่เรียนวิชาฟิสิกส์ แม้จะได้ปริญญาเอก ก็หางานทำไม่ได้ ต้องไปทำงานในสิ่งที่ตนเองไม่ได้เรียนมา ต่อมาคนเลือกเรียนวิชาฟิสิกส์ก็น้อยลง

ในประเทศสิงคโปร์ ข้าราชการได้รับค่าตอบแทนสูงเทียบเท่ากับหรือสูงกว่าบุคลากรในภาคเอกชน รัฐบาลจึงสามารถดึงดูดคนเก่งมาทำงานราชการได้ ขณะเดียวกันด้วยนโยบายป้องกันและลงโทษการทุจริตคอรัปชั่นที่เข้มงวด ก็ทำให้สิงคโปร์มีรัฐบาลที่มีการทุจริตน้อย

ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ก่อนหน้านี้ ครูสอนชั้นประถม มัธยมได้รับเงินเดือนน้อย เด็กที่เรียนเก่งจึงไม่นิยมเรียนวิชาครู คุณภาพของครูตามโรงเรียนจึงไม่สูงนัก เวลานี้ ครูชั้นประถมและมัธยมมีรายได้สูงขึ้น คุณภาพครูจึงสูงขึ้นด้วย ในทศวรรษ 1950 และ 1960 ครูสอนภาษาจีนมีเงินเดือนน้อยมาก เกษียณแล้วก็ไม่มีบำเหน็จบำนาญ คนจีนที่อพยพมาจากประเทศจีนที่มีความรู้ ส่วนหนึ่งเป็นครูสอนภาษาจีน แต่นโยบายของรัฐบาลไทยในสมัยนั้นห้ามไม่ให้เรียนภาษาจีนหลังชั้นประถมปีที่สี่ คนที่มีความรู้ภาษาจีนในประเทศไทย จึงมีไม่มาก คนที่รู้ภาษาจีนดีส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ หลังปีค.ศ.1980 ประเทศจีนมีการเจริญเติบโตในอัตราสูง การค้าขายและการลงทุนระหว่างไทยกับจีนขยายตัวมาก คนที่รู้ภาษาจีนทำงานได้เงินเดือนดี ประกอบกับรัฐบาลไทยยกเลิกข้อห้ามในการสอนภาษาจีน ปัจจุบัน จึงมีการเรียนการสอนภาษาจีนในโรงเรียน ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย และมีคนนิยมเรียนภาษาจีนมากขึ้น

ในปัจจุบัน กิจกรรมต่างๆ ที่มีการใช้เทคโนโลยี มีความต้องการบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนมากขึ้น นักเรียนที่เรียนเก่งในชั้นมัธยม จึงนิยมเลือกเรียนวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และสารสนเทศมากขึ้น เพราะเมื่อเรียนจบแล้ว มีโอกาสทำงานที่มีผลตอบแทนดี ผลตอบแทนและสิ่งจูงใจการทำงาน จึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในด้านต่างๆด้วย

การส่งคนออกไปศึกษาและฝึกงานในต่างประเทศ

การให้ทุนการศึกษาไปเรียนต่อต่างประเทศ เป็นวิธีหนึ่งในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ใช้กันในหลายประเทศ รวมทั้งในประเทศไทย หน่วยราชการต่างๆในประเทศไทย มีข้าราชการระดับสูงจำนวนมาก ที่เคยได้รับทุนไปศึกษาต่อในต่างประเทศมาก่อน ผู้ได้รับทุนรัฐบาลแล้วกลับมาทำงานเหล่านี้มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศมาก

นอกจากมีทุนให้เรียนต่อในต่างประเทศแล้ว บางหน่วยงานของรัฐและสถานประกอบการภาคเอกชน ยังมีโครงการส่งข้าราชการและพนักงานออกไปฝึกงาน หรือฝึกอบรมในต่างประเทศเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้มีโอกาสไปฝึกงานหรือฝึกอบรมนี้ มีการพัฒนาความรู้หรือทักษะการทำงานมากขึ้น

การใช้ประโยชน์จากบุคลากรที่มาจากต่างประเทศ

เมื่อกว่าสองพันห้าร้อยปีที่แล้ว ในสมัยเลียดก๊ก ประเทศจีนมีรัฐจำนวนมาก นักวิชาการ นักกลยุทธ์ในการทำสงคราม และนักปกครอง เป็นที่ต้องการมาก มีการใช้คนที่มีความรู้ความสามารถจากรัฐอื่น มาทำงานในรัฐของตน จนประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง และการทหาร สร้างความเข้มแข็งให้แก่รัฐที่ตนเข้าไปทำงานเป็นอย่างมาก

ในทวีปยุโรปก็เช่นกัน เมื่อกว่าร้อยปีก่อน ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย พัฒนาอุตสาหกรรม ด้วยวิธีการนำช่างฝีมือ ที่มีความชำนาญจากต่างประเทศ เข้ามาช่วยงาน

ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกาได้รับประโยชน์อย่างมากจากการใช้คนต่างชาติที่มีความรู้ความสามารถ ที่อพยพเข้ามาทำงาน บุคลากรจากต่างประเทศเหล่านี้ มีส่วนสำคัญ ที่ช่วยให้อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของสหรัฐอเมริกามีการพัฒนาขึ้นมาก

ในทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลจีนมีโครงการพันคน ให้สิทธิประโยชน์แก่นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ ทั้งคนเชื้อสายจีนและคนต่างชาติ ให้เข้ามาทำงานในประเทศจีนได้ไม่จำกัดเวลา จะเข้ามาช่วยงานในระยะเวลาไม่กี่เดือน หรือมาอยู่ถาวรในประเทศจีนเลยก็ได้ โครงการนี้ ก็มีส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีในประเทศจีน เป็นอย่างมาก

ตัวอย่างข้างต้นชี้ให้เห็นว่า ถ้ามีบรรยากาศและนโยบายที่ดี การพัฒนาประเทศด้านต่างๆก็สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรมนุษย์ที่มาจากต่างประเทศได้

การถ่ายทอดเทคโนโลยี

การรับการลงทุนจากต่างประเทศ นอกจากได้รับประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุน ทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ และมีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังอาจได้รับประโยชน์จากการได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ลงทุนต่างประเทศด้วย แต่ประเทศที่รับการลงทุน ต้องมีนโยบายและมาตรการที่เอื้อต่อการถ่ายทอดเทคโนโลยี สร้างสิ่งสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวก และบุคลากร เพื่อสามารถรับการถ่ายทอดเทคโลโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เรื่องถ่ายทอดเทคโนโลยีจากการลงทุนต่างประเทศ มีการกล่าวถึงในบทความอื่นในบล็อกนี้มาแล้ว จะไม่กล่าวซ้ำในที่นี้อีก เพียงแต่จะกล่าวว่า การรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นวิธีการใช้ประโยชน์จากการลงทุนต่างประเทศในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ควรพิจารณา

กฎหมายและกฎระเบียบ

การป้องกันและปราบปรามคอรัปชั่น มีความสำคัญต่อการใช้และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ถ้ามีนักการเมืองและข้าราชการที่ไม่มีจริยธรรม ไม่สุจริตแล้ว การจะมีคนเก่งคนดีมาทำงาน ก็ยากลำบากไปด้วย

ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ต้องมีกฎหมายและกฎระเบียบที่ชัดเจน ในบางประเทศ การทุจริตมีอยู่ทุกวงการ ตั้งแต่การสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย การคัดเลือกเพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ทั้งระดับอนุบาล ประถม และมัธยม ตลอดจนถึงการเข้ารับราชการ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง และการเลื่อนขั้น ก็อาศัยเส้นสาย และการให้สินบน

นอกจากการทุจริตคอรัปชั่นในเรื่องต่างๆ เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การประมูลงาน การก่อสร้าง แล้ว ในประเทศไทย รัฐบาลสมัยหนึ่ง ยังมี การทุจริตทางนโยบาย คือมีการกำหนดนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของครอบครัวผู้มีอำนาจ และพวกพ้องของตน แต่งตั้งลูกน้องและคนใกล้ชิดเข้าเป็นกรรมการควบคุมกระทรวงและรัฐวิสาหกิจ

ในประเทศไทย แม้มีหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นหลายหน่วยงาน ตั้งแต่ ตำรวจ ศาลยุติธรรม สำนักงานป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) การทุจริตคอรัปชั่นก็ยังมีอยู่มากมาย และแพร่หลายในวงการต่างๆ ในเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา คนไทยได้เห็นนักการเมืองทุจริต โกงบ้านโกงเมืองที่มีคดีทุจริตศาลตัดสินลงโทษจำคุกหลายปีได้รับพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษลงมาก แต่ไม่ยอมติดคุก อ้างว่าป่วยหนัก ขอออกไปรักษาตัวในโรงพยาบาลนอกเรือนจำเป็นเวลาหลายเดือน จนได้เวลาพักโทษหลังได้รับสิทธิ์ถูกคุมขังที่บ้าน แต่ก็ทำตัวเหมือนเจ้าหน้าที่ของรัฐ ออกไปพบปะประชาชน ไปตรวจงานในที่ต่างๆ โดยไม่มีใครกล้าเอาผิด ทำให้มีคนกังขาว่า กฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานป้องกันปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่มีความหมายใดๆในประเทศนี้

ดังนั้น เมื่อมีกฎหมาย กฎระเบียบแล้ว ต้องนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง ประเทศที่นักการเมืองและข้าราชการงมีพฤติกรรมทุจริตคอรัปชั่นน้อย เช่น ประเทศสิงคโปร์ กฎหมายและกฎระเบียบมีความศักดิ์สิทธิ์ นำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างได้ผล แต่หากมีกฎหมาย กฎระเบียบและสถาบันแล้วไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้ การปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น จะไม่มีวันหมดลง

บทบาทของสถาบัน สถานประกอบการ และประชาชน

นอกจากสถาบันการศึกษาที่มีภารกิจในการเรียนการสอน และมีโครงการฝึกอบรมในลักษณะต่างๆแล้ว ยังมีหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในประทรวงพาณิชย์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และหน่วยงานอื่นๆในสังกัดกระทรวง ทบวง กรม อื่นๆอีก หน่วยงานเหล่านี้ ล้วนภารกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทั้งสิ้น

สถาบันที่มีภารกิจในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน เช่น สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สถาบันอุตสาหกรรมเฉพาะทางต่างๆ สภาหอการค้า และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ล้วนมีภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากร

สถานประกอบการเอกชนในภาคเศรษฐกิจต่างๆ ก็มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เช่นกัน เช่น การฝึกงานในโรงงาน การส่งคนงานออกไปฝึกอบรมและดูงานในต่างประเทศ เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้ ล้วนมีประโยชน์ต่อการพัฒนาบุคลากรในภาคเอกชนทั้งสิ้น

การมีนักธุรกิจและประชาชนที่มีจริยธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต รู้สิทธิ รู้หน้าที่ ใส่ใจในนโยบายการบริหารประเทศ มีความรังเกียจ และคัดค้าน นโยบายและพฤติกรรมของนักการเมืองที่ส่อไปในทางทุจริตคอรัปชั่น โดยมีสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ช่วยเผยแพร่พฤติกรรมของนักการเมืองและข้าราชการที่ทุจริต ก็มีส่วนช่วยทำให้การทุจริต คอรัปชั่นในประเทศของเรา ก็ลดน้อยลงได้

ถ้าการทุจริตคอรัปชั่นเกิดขึ้นมาก คุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ของประเทศก็จะเสื่อมทรามลงไปมากเช่นกัน การพัฒนาประเทศย่อมประสบผลสำเร็จได้ยาก ประชาชนควรมีความตื่นตัวในเรื่องการป้องกันและปราบปราม การทุจริตคอรัปชั่น มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงาน ขุดคุ้ยและเผยแพร่เรื่องที่ไม่ชอบมาพากลของรัฐบาลด้วย

ใส่ความเห็น