นโยบายเศรษฐกิจสำคัญอย่างไร(13)

นโยบายเศรษฐกิจสำคัญอย่างไร(13)

ภาคอุตสาหกรรม
องค์การระหว่างประเทศต่างๆ ได้จัดกิจกรรมเศรษฐกิจออกเป็นสามภาคใหญ่ คือภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ คำว่า”ภาคอุตสาหกรรม”(industrial sector) ในความหมายกว้าง รวมกิจกรรมการทำเหมืองแร่ การผลิตสินค้า ไฟฟ้า กาซธรรมชาติ น้ำประปา และการก่อสร้างไว้ด้วย
แต่ในบทความนี้ คำว่า”อุตสาหกรรม” จะหมายถึงกิจกรรมที่ใช้ทุน แรงงาน และทรัพยากรในการประดิษฐ์ ประกอบ แปรรูปสิ่งของหรือสินค้า เพิ่มคุณค่าของวัตถุดิบ หรือส่วนประกอบที่มีอยู่เดิม ซึ่งมีความหมายตรงกับคำว่า”การผลิต”(manufacturing)
ในประเทศไทย คำว่า”ภาคอุตสาหกรรม” ที่ใช้กันทั่วไป มักหมายถึงภาคการผลิต(manufacturng sector) ในเวลาที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก เดิมประเทศไทยมีขอบเขตการพัฒนาอุตสาหกรรมที่จำกัด แต่ในปัจจุบัน สินค้าอุตสาหกรรมมีความหลากหลายและมีคุณภาพดีขึ้นมาก ภาคอุตสาหกรรมเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญในผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติและการส่งออกในประเทศไทยต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายทศวรรษ อย่างไรก็ตาม หลังการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปีค.ศ. 1997 การส่งออกของสินค้าอุตสาหกรรมชะลอตัวลงมาก สินค้าอุตสาหกรรมไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ประเทศที่แต่ก่อนนี้เน้นตลาดภายในประเทศ เช่น ประเทศสังคมนิยมที่อยู่ใกล้ไทย ต่างสนใจการพัฒนาอุตสาหกรรมและการค้าต่างประเทศมากขึ้น มีการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อผลิตสินค้าอุตสาหกรรม เพื่อการบริโภคในประเทศ และส่งออกไปขายในตลาดโลก ประเทศเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ และมีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าไทย การส่งออกในสินค้าไทยจึงต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ประเทศไทยที่เดิมมีขีดความสามารถการแข่งขันสูงในสินค้าที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานเข้มข้น ต้องเสียความได้เปรียบนี้ไป ขณะที่ยังไม่มีความพร้อมมากนักในการผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง หลังวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปีค.ศ. 1997 หลายฝ่ายในประเทศ ตระหนักถึงปัญหาและจุดอ่อนของอุตสาหกรรมไทย รัฐบาลด้วยความร่วมมือของภาคเอกชน จึงได้จัดทำแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมขึ้นในปี 1998 แต่นโยบายและแผนงานการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมนี้ใช้ได้ไม่นาน ก็มีการเปลี่ยนรัฐบาล รัฐบาลใหม่มีนโยบายอุตสาหกรรมที่แตกต่างจากเดิม และไม่เห็นความสำคัญของการปรับโครงสร้าง แผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมจึงสดุดหยุดลง ต่อมา แม้มีรัฐบาลหลายชุด มีรัฐมนตรีอุตสาหกรรมหลายคน แต่ก็ไม่มีนโยบายการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมที่ชัดเจน ขีดความสามารถการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย จึงไม่มีการปรับปรุงมากนักในกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา นโยบายอุตสาหกรรมเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเศรษฐกิจ นโยบายอุตสาหกรรมที่ดี ทำให้อุตสาหกรรมเจริญก้าวหน้า ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไม่ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ กว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา นโยบายอุตสาหกรรมในประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาและข้อจำกัดหลายประการ เช่น ประกาศนโยบายแล้ว ไม่นำสู่การปฏิบัติ คือ"พูดแล้วไม่ทำ" มีแต่นโยบายโดยไม่มีมาตรการรองรับ การดำเนินโยบายไม่มีความต่อเนื่อง ขาดการประสานงาน และมีข้อจำกัดทางด้านข่าวสารข้อมูล แม้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นกระทรวงที่มีหน้าที่ส่งเสริมและกำกับดูแลอุตสาหกรรมในประเทศ แต่กระทรวงอื่นๆ ทั้งการเกษตร พาณิชย์ การคล้ง อุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม แรงงาน คมนาคม รวมทั้งหน่วยงานและสถาบันต่างๆในรัฐบาล สถานประกอบการ และสถาบันในภาคเอกชน ล้วนมีส่วนต่อการดำเนินนโยบายอุตสาหกรรม และนำนโยบายสู่การปฏิบัติ นโยบายอุตสาหกรรม จะมีประสิทธิภาพและมีการดำเนินการอย่างเป็นเอกภาพได้ ควรมีการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆดังกล่าว ครั้งหนึ่ง รัฐบาลไทยเคยมีคณะกรรมการการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติทำหน้าที่ประสานงาน การดำเนินนโยบายอุตสาหกรรม แต่คณะกรรมการชุดนี้ถูกยกเลิกไป หลังจากทำงานได้ในเวลาสั้นๆ นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยจึงไม่สามารถดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ หากยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน ไม่มีการผนึกกำลังและประสานงานจากทุกฝ่าย การปรับโครงสร้างเพื่อให้อุตสาหกรรมไทยมีความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น ย่อมเป็นไปได้ยาก เรื่องนโยบายอุตสาหกรรมในประเทศไทย มีการกล่าวมาบ้างแล้วในบทความที่เขียนมาก่อนหน้านี้ ในที่นี้ จะกล่าวเพียงบางหัวข้อทีสำคัญโดยสังเขป คือ 1. การวิจัย พัฒนา และการสร้างนวัตกรรม 2. การพัฒนากำลังคน 3. การเพิ่มประสิทธิภาพ 4. การลงทุนจากต่างประเทศ 5.การกระจายอุตสาหกรรมสู่เขตภูมิภาค 6. การส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดย่อม 7. การส่งเสริมอุตสาหกรรมเฉพาะประเภท 8. การจัดการกับมลภาวะ 9.การจัดจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรม 10.การประสานงานในการดำเนินนโยบาย 11.การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนโยบายเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป

การวิจัย พัฒนา และการสร้างนวัตกรรม
ในเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา เทคโนโลยีของโลกมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีเทคโนโลยีใหม่ๆเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก สินค้าอุตสาหกรรมมีความหลากหลายและคุณภาพดีขึ้น ใช้งานได้ดีขึ้น แต่มีราคาถูกลง กิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงไปมาก การวิจัยพัฒนาสินค้า การออกแบบ การผลิต และการจัดจำหน่ายล้วนใช้เทคโนโลยีช่วยทำได้ การติดต่อสื่อสารกับพนักงาน ลูกค้า และบุคคลอื่น ทำได้โดยสะดวก การตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ ก็มีประสิทธิภาพมากขึ้น
การพัฒนาเทคโนโลยี มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอุตสาหกรรมมาก แต่ประเทศต่างๆ ได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีไม่เท่ากัน โดยทั่วไป เทคโนโลยีใหม่ มักเกิดขึ้นในประเทศที่มีความพร้อมในการประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ที่กำลังคนมีความรู้ และมีสิ่งสาธารณูปโภคที่พร้อมมูล อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ไม่สามารถสร้างเทคโนโลยีขึ้นเองได้ ก็รับประโยชน์จากเทคโนโลยีได้เช่นกัน หากมีนโยบายอุตสาหกรรมที่เหมาะสม
นโยบายที่ควรมีคือ:

  • ตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ
  • รับรู้การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของโลก รวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ และรู้จักศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีต่อเศรษฐกิจสังคมของประเทศของตน
    • ให้ความสนใจเทคโนโลยีสมัยใหม่ และรู้จักใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์ เทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้นในสองทศวรรษที่ผ่านมามีหลายอย่าง เช่น เทคโนโลยีดิจิตอล (digital technology) และปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence ) ที่เชื่อมอินเตอร์เน็ตกับสิ่งของ ทำให้ใช้งานได้ดีขึ้น และทำงานหลายอย่างแทนคนได้
    • การนำเทคโนโลยีที่มีการพัฒนามาแล้วมาใช้ในประเทศ ทำได้โดยผ่านช่องทางต่างๆ เข่น ชักชวนบริษัทต่างประเทศมาทำการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโลโลยีขั้นสูง ซื้อสิทธิบัตร(หากจำเป็น) ค้นหาข้อมูลจากสื่อต่างๆ ส่งเสริมการวิจัยพัฒนา ลอกเลียนแบบ และปรับปรุงลักษณะการใช้เทคโนโลยีให้เหมาะกับสภาพของประเทศ
    • ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนในประเทศ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรและสถานประกอบการของเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป ให้รู้จักนำเครื่องมืออุปกรณ์เทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ประโยชน์
    • กำหนดนโยบายและมาตรการในการส่งเสริมการวิจัยพัฒนา การสร้างนวัตกรรม และการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ
    • สร้างสิ่งสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยี
    • ปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบ เพื่อให้หน่วยงานและประชาชนทุกหมู่เหล่า สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้โดยสะดวก
    • มีสถาบันการวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรม มีศูนย์บ่มเพาะ (incubation center) สถาบันการเงินร่วมทุน(venture capital) และสถาบันอุตสาหกรรมเฉพาะทางต่างๆที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการวิจัยพัฒนา และการสร้างนวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ มีเขตพื้นที่ที่อุตสาหกรรมที่เน้นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและนวัตกรรม (เช่น Silicon Valley ในอเมริกา EECi และ EECd ในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกของไทย)
    • เทคโนโลยีบางอย่างที่มีประโยชน์ แต่ไม่สลับซับซ้อน อาจพัฒนาขึ้นมาเอง โดยสถาบันการศึกษา วิจัย และสถานประกอบการธุรกิจภายในประเทศ ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมในหน่วยงาน สถาบัน และสถานประกอบการที่มีอยู่ในประเทศ
      ประเทศที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาเอง แต่ต้องส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและกำลังคน เพื่อนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ได้เต็มที่
      สำหรับประเทศไทย การวิจัยพัฒนา และนวัตกรรม อาจไม่สร้างหรือประดิษฐ์เทคโนโลยีลํ้ายุค แต่ก็ทำให้สามารถใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วได้ดีขึ้น สิ่งควรทำคือ จัดสรรงบประมาณทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ลงทุนในกิจกรรมการวิจัยพัฒนา พัฒนาเทคโนโลยีไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ และปรับปรุงเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วให้เหมาะกับสภาพทรัพยากรและสภาวการณ์ของประเทศ ให้ความสำคัญแก่การมีสถาบันและหน่วยงานทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนที่ส่งเสริมการวิจัยพัฒนา สร้างนวัตกรรม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สร้างบุคลากรทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

การพัฒนากำลังคน
แรงงานเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในภาคเศรษฐกิจต่างๆ การยกระดับคุณภาพแรงงานมีความสำคัญ ในปัจจุบัน เทคโนโลยีทั้งการผลิตและการจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรมในประเทศต่างๆ มีการพัฒนามากขึ้น ในขณะที่ข้อได้เปรียบของการมีค่าจ้างแรงงานตํ่าของไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นลดลง การเร่งพัฒนากำลังคน จึงเป็นนโยบายสำคัญของภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย
การพัฒนากำลังคนทำได้หลายรูปแบบคือ:
– การศึกษาในระบบ
– การศึกษานอกระบบ
– การฝึกอบรมแรงงาน
– การสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางด้านต่างๆ
– การนำเข้าบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญจากต่างประเทศ
ยังมีเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับกำลังคน เช่น การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ การตอบสนองการเข้าสู่สังคมสูงวัย การนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ และการส่งคนงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ เป็นต้น

การศึกษาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย
ในยุคที่วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว โรงเรียนและมหาวิยาลัย ควรปรับปรุงหลักสูตรให้มีเนื้อหาสาระ ที่ทำให้ผู้เรียนมีความรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก
มหาวิทยาลัยและโรงเรียนอาชีวะศึกษา ควรให้ความสำคัญกับการศึกษาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ฝึกอบรมผู้เรียนให้ทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพในสมัยปัจจุบัน เรียนรู้ภาษาต่างประเทศ รู้จักศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง และรู้จักใช้เครื่องมือสมัยใหม่ในการค้นหาและวิเคราะห์ข้อมูล

การศึกษานอกระบบ :
สำหรับการศึกษานอกระบบ ควรส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ฝึกอบรมประชาชนทุกสาขาอาชีพให้รู้จักศึกษาค้นคว้า เพิ่มพูนความรู้และหาข่าวสารข้อมูลด้วยตนเอง สร้างห้องสมุดตามพื้นที่ต่างๆของประเทศ อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนสามารถทำการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองได้
ในปัจจุบัน มีเครื่องมือสื่อสารต่างๆที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น การเผยแพร่ข่าวสารข้อมูล การสอนทางไกลผ่านโทรทัศน์ หรือการเรียนและการฝึกอบรมออนไลน์ สามารถทำผ่านสื่อสมัยใหม่ ทำให้การเรียนและการฝึกอบรม ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลจึงควรส่งเสริมให้มีการใช้เครื่องมือสื่อสารเหล่านี้อย่างกว้างขวาง

การฝึกอบรมแรงงาน :
การฝึกอบรมแรงงาน ทำได้ทั้งในระดับก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน คนงานทั่วไป และคนที่ทำงานด้านบริหาร
เมื่อหลายสิบปีก่อน รัฐบาลของสิงคโปร์พบว่า ในเขตเศรษฐกิจใหม่ในทวีปเอเซียทั้งสี่ คือ เกาหลี ไต้หวัน สิงคโปร์ และฮ่องกง สิงคโปรมีคนงานมีวุฒิการศึกษาโดยเฉลี่ยต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบ คือ มีคนงานที่จบระดับประถมศึกษาในสัดส่วนสูงกว่า แต่มีผู้ที่เรียนจบมัธยมและมหาวิทยาลัยในสัดส่วนต่ำกว่า รัฐบาลสิงคโปร์จึงริเริ่มโครงการ “การศึกษาในโรงงาน” จัดให้คนงานที่ทำงาอยู่ มีโอกาสเรียนชั้นมัธยมในเวลาหลังเลิกงาน และสุดสัปดาห์ ทำให้คนงานจำนวนมากที่มีวุฒิการศึกษาขั้นประถม มีวุฒิมัธยมศึกษา
เมื่อคนงานเรียนจบชั้นมัธยมแล้ว ยังเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยในตอนค่ำและสุดสัปดาห์ ในสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนภาคคํ่าและสุดสัปดาห์ได้ด้วย ในปัจจุบัน คนงานที่ทำงานในโรงงานและร้านค้าในสิงคโปร์ จึงมีวุฒิการศึกษาที่สูงกว่าโดยเฉลี่ยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
ปัญหาหนึ่งของการฝึกอบรมคนงานให้มีความรู้และทักษะสูงขึ้น ก็คือ การฝึกอบรมต้องมีค่าใช้จ่าย แต่คนงานบางคน เมื่อรับการฝึกอบรมจนมีความรู้และทักษะสูงขึ้นแล้ว อาจลาออกจากงาน ไปทำงานที่อื่นที่มีผลตอบแทนสูงกว่า สถานประกอบการต่างๆ จึงไม่ค่อยยินดีที่จะทำการแก่พนักงานอย่างเต็มที่
เพื่อให้มีสิ่งจูงใจในการฝึกอบรมแรงงาน ในหลายประเทศ มีกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน กำหนดให้สถานประกอบการอุตสาหกรรมส่งเงินเข้ากองทุนทุกปี แต่มีสิทธิ์เบิกเงินค่าใช้จ่ายจากกองทุนนี้มาทำการฝึกอบรมคนงานได้ โรงงานจำนวนมากเลือกที่จะเบิกเงินกองทุนมาฝึกอบรมแรงงาน มากกว่าที่จะจ่ายเงินเข้ากองทุนโดยไม่เบิกค่าใช้จ่ายใดๆเลย ในบางประเทศ โรงงานที่ไม่สามารถจัดโครงการฝึกอบรมด้วยตนเอง ก็สามารถส่งคนงานไปอบรมในโรงงานที่มีโครงการฝึกอบรม และเบิกค่าใช้จ่ายการฝึกอบรมนี้ได้
ในประเทศไทย ก็มีกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งนอกจากใช้ในการพัฒนาฝีมือแรงงานแล้ว ยังใช้ในการทดสอบมาตรฐานแรงงาน และฝึกอบรมคนงานที่เตรียมเข้าทำงาน คนงานที่ถูกเลิกจ้าง ก็มีโอกาสพัฒนาฝีมือจากโรงงานที่มีโครงการพัฒนาฝีมือแรงงาน ด้วยค่าใช้จ่ายที่เบิกจากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานนี้
ในพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือมือแรงงาน พ.ศ. 2545 กำหนดให้สถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรมและพาณิชย์กรรม และยริการอื่น ที่มีคนงานมากกว่า 100 คนขึ้นไป ต้องมีโครงการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน มิฉะนั้น จะต้องส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานในสัดส่วนร้อยละหนึ่งของค่าใช้จ่ายการจ้างแรงงาน (ต่อมา ในปีค.ศ. 2022 เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด รัฐบาลได้ลดจำนวนเงินที่ต้องส่งเข้ากองทุนจากร้อยละหนึ่งเป็นร้อยละ0.5)
เนื่องจากไม่มีสถิติที่แสดงความสัมฤทธิผลการพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงไม่เป็นที่แน่ชัดว่า การพัฒนาฝีมือแรงงานในประเทศไทย ประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงไร อย่างไรก็ตาม จากการพิจารณาประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมต่างๆของไทย เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆบางประเทศแล้ว อนุมานได้ว่า การพัฒนาฝีมือแรงงานในประเทศไทย มิได้ประสบผลสำเร็จมากนัก

การสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถสูงด้านต่างๆ
ในประเทศต่างๆ มีทุนการศึกษาและฝึกอบรมเพื่อสร้างบุคลากรด้านต่างๆ มาช่วยพัฒนาประเทศ ในประเทศไทย ก็มีการให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนและบุคคลทั่วไป ออกไปไปศึกษาเล่าเรียนในต่างประเทศ เช่นกัน
ในเวลาที่ผ่านมา มีคนที่รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลจำนวนมาก บุคคลเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการทำงานช่วยพัฒนาประเทศ ผู้ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศด้วยทุนรัฐบาล มีทั้งผู้ที่เรียนวิชาสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จนถึงปัจจุบัน ข้าราชการที่ทำงานในภาครัฐบาล และบุคลากรในภาคเอกชน มีจำนวนมากเป็นนักเรียนทุนที่จบการศึกษาจากต่างประเทศมาก่อน
นอกจากนั้น บริษัทที่มีการลงทุนจากต่างประเทศบางแห่ง ก็มีทุนสนับสนุนให้คนงาน และผู้บริหารที่เป็นคนไทยไปฝึกงาน หรือดูงานในต่างประเทศในระยะเวลาหนึ่ง การมีโอกาสไปฝึกงานและดูงานในต่างประเทศนี้ มีส่วนส่งเสริมทักษะความรู้ของผู้ไปฝึกงานหรือดูงาน ให้สามารถทำงานได้ดีขึ้น
ตัวอย่างการดูงานต่างประเทศที่เป็นประโยชน์ ก็คือ การดูงานของข้าราชการ พ่อค้า และนักชาการในประเทศญี่ปุ่นในสมัยจักรพรรดิเมจิ ในศตวรรษที่ 19 และการไปดูงานในยุโรป อเมริกา และประเทศต่างๆในเอเชีย ของคณะบุคคลที่รัฐบาลจีนส่งไปในตอนปลายทศวรรษ 1970 ในช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลนโยบายสู่การปฏิรูปทางเศรษฐกิจ
คณะผู้ดูงานของทั้งญี่ปุ่นและจีน ได้เห็นถึงความเจริญก้าวหน้าของประเทศอื่น และตระหนักถึงความล้าหลังของประเทศตนเอง ได้นำความรู้ความคิดที่ได้จากการดูงานนี้ มากำหนดนโยบายการพัฒนา เศรษฐกิจของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
อย่างไรก็ดี ในบางกรณี การออกไปดูงานในต่างประเทศ ก็ไม่เป็นประโยชน์ ตัวอย่างเช่น การดูงานในต่างประเทศของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และข้าราชการไทยบางคณะ ที่สิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่มีประโยชน์ ผู้ออกไปดูงานได้ใช้โอกาสการดูงานนี้ ออกไปเที่ยวและไปช้อปปิ้งในต่างประเทศ ด้วยงบประมาณของรัฐบาล แม้ผู้ไปดูงานได้รับความบันเทิง แต่ไม่ได้เรียนรู้อะไรมากนัก

การนำเข้าบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถสูงจากต่างประเทศ
ในยุคปัจจุบัน วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมีความความเจริญก้าวหน้า และมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว การผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถสูงในประเทศ อาจไม่เพียงพอ และไม่ทันกับเวลา การนำเข้าบุคลากรชาวต่างชาติที่มีความรู้ความสามารถสูง จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการเสริมสร้างกำลังคน
ในประเทศที่ไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม มักมีปัญหา”สมองไหล” คือ ผู้มีความรู้ความสามารถจำนวนมาก หนีออกไปทำงานในต่างประเทศ ทำให้ประเทศเหล่านี้ ซึ่งพัฒนาช้าอยู่แล้ว ยิ่งล้าหลังมากขึ้นอีก จากการขาดแคลนคนที่มีความรู้ความสามารถ ผู้ที่ออกไปทำงานในต่างประเทศ ส่วนมากมักได้รับเงินเดือนสูงกว่า และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าคนที่อยู่ในประเทศมาก จึงไม่อยากกลับมาทำงานในประเทศของตน
ประสบการณ์ของประเทศจีน เป็นตัวอย่างน่าสนใจ หลังเปลี่ยนแปลงอำนาจปกครองประเทศในปี ค.ศ. 1949 มีคนจีนความรู้ความสามารถสูงที่ทำงานหรือศึกษาอยู่ในต่างประเทศจำนวนหนึ่ง เดินทางกลับจีน หวังที่จะทำงานที่เป็นประโยชน์เพื่อรับใช้ประเทศ
แต่หลังจากนั้นกว่าสามทศวรรษ สถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในประเทศจีน มีการเปลี่ยนแปลงในทางไม่ดี จากนโยบายที่เน้นเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้น และไม่เห็นคุณค่าของผู้มีความรู้
ในช่วง”ปฏิวัติวัฒนธรรม”(ค.ศ.1966-76) ข้าราชการ นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ ที่มีความรู้ความสามารถสูงจำนวนมาก ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกทรมาน ถูกจับเข้าคุก บางคนถึงกับฆ่าตัวตาย บางคนอพยพไปต่างประเทศ(หากสามารถทำได้) ประเทศจีนจึงต้องสูญเสียผู้มีความรู้ความสามารถสูงไปจำนวนมาก
ในตอนปลายทศวรรษ 1970 ประเทศจีนมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งสำคัญ สู่การปฏิรูปและการเปิดประเทศทางเศรษฐกิจ ในช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลงนโยบาย รัฐบาลจีนได้เชิญนักวิทยาศาสตร์ และนักวิชาการแขนงอื่นๆ ที่ถูกพักงานและถูกลงโทษในเวลาก่อนหน้านี้กลับมาทำงาน ทั้งยังมีการปรับปรุงวิธีการสอบเข้ามหาวิทยาลัย และการคัดเลือกคนเข้ารับราชการ เพื่อเสริมสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มาเพื่อทดแทนคนรุ่นเก่าเมื่อคนรุ่นเก่าเกษียณหรือเสียชีวิตไป จะได้มีคนรับช่วงต่อ
การพัฒนากำลังคน จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนมีการพัฒนาเจริญก้าวหน้าเป็นเวลาต่อเนื่องหลายสิบปีหลังจากการเปลี่ยนแปลงนโยบาย จนพลิกฟื้นฐานะจากประเทศที่ยากจนมาก ขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก (หากสนใจปัจจัยที่ทำให้ประเทศจีนมีความเจริญก้าวหน้าจากการเปลี่ยนแปลงนโยบาย อ่านบทความ “ความเจริญและความเสื่อมของเศรษฐกิจจีน: จากอดีตถึงปัจจุบัน” ตอนที่ 20)ในบล็อกนี้ได้)
ในสองทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงมาก รัฐบาลจีนตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพัฒนากำลังคน จึงมีนโยบายที่เน้นหนักด้านนี้มาก และพยายามดึงดูดคนจีนที่มีความรู้ความสามารถสูงเข้ามาทำงานในประเทศจีน
ในปลายปี ค.ศ. 2008 รัฐบาลจีนได้เริ่มโครงการพันคน(千人计划)ซึ่งมีชื่อว่า”โครงการชักชวนผู้มีความรู้ความสามารถระดับสูงทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในต่างประเทศมาทำงาน”(海外高层次人才引进计划) ตามโครงการนี้ คนเชื้อสายจีนที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศ จะกลับมาสอนหนังสือหรือทำวิจัยในประเทศจีนเป็นเวลาไม่กี่เดือน มาเป็นปี หรืออยู่ถาวรก็ได้ โดยให้ค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ดี สำหรับคนที่อยู่เป็นเวลานาน จะได้รับการอำนวยความสะดวกด้านที่อยู่อาศัยของครอบครัว และการศึกษาเล่าเรียนของบุตรหลานด้วย
ตั้งแต่มีการริเริ่มโครงการพันคน จนถึงปัจจุบัน มีนักวิชาการ และนัก วิทยาศาสตร์หลายพันคนเข้าร่วมโครงการแล้ว บุคคลเหล่านี้ ส่วนมากมาจากสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆในยุโรป ผู้ที่มาสอนหนังสือหรือทำงานชั่วคราวเป็นเวลาไม่กี่เดือนมีสัดส่วนสูง คนเหล่านี้ มีอาชีพการงานถาวรที่มีผลตอบแทนสูงอยู่ในต่างประเทศอยู่แล้ว จึงมักมาเพียงไม่กี่เดือน แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่เลือกย้ายมาอยู่จีนเป็นาวลานาน หรืออยู่ถาวร โครงการพันคนนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จ และมีส่วนช่วยให้เทคโนโลยีสมัยใหม่บางอย่าง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ ฐานข้อมูลใหญ่ และบล็อกเชน เกิดขึ้นในประเทศจีน
ในโครงการพันคนที่ดึงดูดนักวิทศาสตร์เทคโนโลยีชั้นนำของโลกไปช่วยทำงานในจีนนี้ มีนักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์จีนที่ทำงานอยู่ในอเมริกาเข้าร่วมจำนวนมาก บุคคลเหล่านี้ ส่วนมากเลือกไปอยู่จีนในระยะเวลาสั้น ผู้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในอเมริกา มักจะไปในช่วงปิดภาคการศึกษาเป็นเวลาสองสามเดือน แต่การกระทำดังกล่าว ทำให้รัฐบาลอเมริกากังวลว่า ความลับทางเทคโนโลยีของอเมริกา จะรั่วไหลสู่จีน รัฐบาลอเมริกาโดยสำนักงานสอบสวนกลาง(FBI) จึงได้ทำการตรวจสอบบุคคลเหล่านี้ และมีผลทำให้นักวิชาการบางคนถูกลงโทษ ถูกพักงาน หรือถูกตัดงบอุดหนุนการวิจัยจากรัฐบาลอเมริกา จนมีนักวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเชื้อสายจีนจำนวนหนึ่งลาออกจากงานในอเมริกา แล้วกลับไปอยู่ประเทศจีนเป็นการถาวร
เมื่อหลายสิบปีก่อน รัฐบาลไทยในสมัยหนึ่งก็มีความคิดที่จะเชิญชวนคนไทยความรู้ความสามารถสูงที่ทำงานในต่างประเทศ กลับมาทำงานที่ประเทศไทย แต่เช่นเดียวกับนโยบายอื่นในประเทศไทย เรื่องนี้ไม่ได้นำสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง การชักชวนคนไทยที่มีความรู้ที่อยู่ในต่างประเทศกลับมาทำงานจึงไม่ประสบผล

ค่าจ้างขั้นต่ำ
ในวันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันแรงงานสากล สหภาพแรงงานในไทย มักมีข้อเสนอให้แก่รัฐบาลในเรื่องต่างๆ เช่น เรียกร้องให้ขึ้นค่าจ้าง เพิ่มสวัสดิการแรงงาน รับประกันความปลอดภัยในการทำงาน
ในการหาเสียงเลือกตั้ง พรรคการเมืองบางพรรค มีการหาเสียงจากคนงาน ด้วยการเสนอนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่า ค่าแรงขั้นต่ำที่นำเสนอ มักมีอัตราที่สูงกว่าค่าแรงในขณะนั้นมาก นอกจากนั้น ยังเสนอให้จ่ายค่าจ้างในอัตราเดียวกันในทุกจังหวัด โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างของค่าครองชืพในแต่ละพื้นที่
เมื่อพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายนี้ชนะการเลือกตั้งขึ้นเป็นรัฐบาล แล้วนำนโยบายค่าแรงขั้นต่ำนี้สู่การปฏิบัติ ก็ได้สร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจอุตสาหกรรม ทำให้เกิดกระแสการเลิกจ้าง โรงงานบางแห่งต้องปิดตัวลงจากการแบกรับค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นไม่ไหว บ้างก็ย้ายไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงต่ำกว่า
การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ควรเป็นผลจากการเจอจาต่อรองของคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากสามฝ่าย คือ รัฐบาล นายจ้าง และคนงาน โดยพิจารณาถึงประสิทธิภาพการทำงานและค่าครองชีพที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ การมีนโยบายค่าแรงขั้นต่ำที่สูงกว่าความเป็นจริง และมีอัตราค่าแรงระดับเดียวกันทั่วประเทศ เป็นนโยบายที่ไม่ควรมี แม้อาจได้คะแนนเสียงในการเลือกตั้ง

การเข้าสู่สังคมสูงวัย
ประเทศไทย ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ(aging society) มากว่าทศวรรษแล้ว ในปีค.ศ. 2021 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ หรือผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี กว่า 12 ล้าน คาดว่าถึงปีค.ศ. 2030 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุ สูงถึงร้อยละ 28 ของประชากรทั่วประเทศ เนื่องจากคนไทยมีอายุที่ยืนยาวขึ้น แต่อัตราเกิดลดลง แรงงานในวัยทำงานจึงมีสัดส่วนน้อยลง ขณะที่ผู้สูงอายุมีสัดส่วนมากขึ้น
การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจหลายประการ เช่น มีคนทำงานประจำน้อยลง มีผู้เสียภาษีลดลง รัฐบาลมีภาระในการใช้จ่าย ทั้งเงินบำนาญและสวัสดิการรักษาพยาบาลมากขึ้น
ปัญหากำลังแรงงานลดลง จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แก้ไขได้บางส่วนโดยการใช้เครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ และการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ แต่ในระยะยาว ควรมีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม จากการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีระดับตํ่าและใช้แรงงานมาก สู่การผลิตสินค้าที่ใช้เครื่องจักรเทคโนโลยี พร้อมกับปรับปรุงประสิทธิภาพของคนงานที่ยังอยู่ในวัยทำงาน
ปัญหาการเข้าสู่สังคมสูงวัย เกิดขึ้นในหลายประเทศ มีบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และหลายประเทศในยุโรป มีการเข้าสู่สังคมสูงวัยในอัตราที่เร็วกว่าไทยมาก แต่ละประเทศมีวิธีการแก้ปัญหาการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยที่แตกต่างกัน บ้างก็ขยายอายุผู้ที่จะเกษียณ เช่น จาก 60 เป็น 62 หรือ 65 ปี บ้างก็หางานที่ไม่ต้องใช้แรงกายมากให้ผู้สูงอายุทำ ในอเมริกาและบางประเทศในยุโรป อาจารย์มหาวิทยาลัยไม่มีการเกษียณอายุ ในประเทศไทย อาจารย์มหาวิทยาลัยเมื่อมีอายุครบ 60 ปีแล้ว ก็ยังทำงานได้ถึงอายุ 65 แต่ไม่เป็นผู้บริหาร ข้าราชการตุลาการและงานบางตำแหน่งในหน่วยงานของรัฐ ก็ทำงานได้ถึงอายุ 70 แต่ข้าราชการทั่วไป ยังคงต้องเกษียณเมื่ออายุครบ 60 ปี นักการเมืองก็ดำรงตำแหน่งได้จนแก่เฒ่า ถ้ายังได้รับการเลือกตั้ง ผู้บริหารในสถานประกอบการในภาคเอกชนบางแห่ง ก็ไม่มีการกำหนดอายุที่ต้องออกจากงาน
ในปัจจุบัน คนที่มีอายุเกิน 60 ปียังแข็งแรง และสามารถทำงานได้ ไม่เพียงแต่งานที่ใช้ความคิด แต่งานที่ต้องใช้แรงงานบางอย่างก็ยังสามารถทำได้ คนสูงอายุที่มีความรู้และประสบการณ์ สามารถทำงานที่ใช้ความคิด และความรอบรู้ที่ได้สะสมมาจากประสบการณ์ได้ดี จึงควรมีนโยบายให้ผู้สูงอายุทำงานหลังเกษียณ ใช้ความรู้ความสามารถของเขาให้เป็นประโยชน์
งานที่ผู้สูงอายุทำได้มีหลายอย่าง ทั้งการทำงานเต็มเวลาและไม่เต็มเวลา รัฐบาลควรส่งเสริมให้หน่วยงาน และองค์กรในภาครัฐและภาคเอกชน รับผู้เกษียณอายุแล้วเข้าทำงานในสิ่งที่เขาถนัด เช่น เป็นที่ปรึกษา เป็นผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้และทักษะการทำงานบางอย่างที่เขามีความเชี่ยวชาญ สำหรับผู้มีความรู้ความสามารถเฉพาะอย่าง และมีเงินทุน อาจสนับสนุนให้เขาเป็นผู้ประกอบการ ทำการค้าการลงทุนในเรื่องที่เขามีความถนัด
นอกจากการจ้างงานผู้เกษียณอายุที่เป็นคนไทยแล้ว ยังอาจว่าจ้างชาวต่างชาติที่มีความรู้และทักษะสูงให้มาทำงานในประเทศไทย เมื่อหลายปีก่อน มีผู้เสนอความคิดให้แก่รัฐบาลไทย มีนโยบายว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่เคยทำงานกับบรรษัทข้ามชาติในไทย ที่เกษียณอายุแล้วมาทำงาน คือ แทนที่จะกลับประเทศของเขา ก็เชิญชวนให้เขาอยู่ต่อในประเทศไทย เพื่อใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญและทักษะของเขาให้เป็นประโยชน์ เช่น จ้างผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่เกษียณอายุแล้วมาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ให้เขาถ่ายทอดความรู้ความชำนาญแก่คนงานไทย
นอกจากนั้น ยังอาจชักชวนชาวต่างชาติที่มีความรู้ความสามารถสูงที่เกษียณแล้ว ที่อยู่ต่างประเทศ ให้มาทำงานในประเทศไทย โดยให้สิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ ให้เขาและครอบครัว มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และยินดีย้ายมาอยู่ประเทศไทย เพื่อทำงานที่เป็นประโยชน์ ความคิดเหล่านี้ จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการนำสู่การปฏิบัติแต่อย่างใด
นอกจากการใช้ประโยชน์จากความรู้ความสามารถของผู้สูงอายุแล้ว การดูแลผู้สูงอายุ เป็นสิ่งที่ทุกรัฐบาลควรทำ โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยพิการ และผู้ที่ไม่สามารถช่วยตนเองได้ ในเรื่องนี้ อาจดูตัวอย่างประเทศจีน ซึ่งทำได้ดีพอควร
ในประเทศไทย ข้าราชการที่เกษียณแล้วได้รับบำนาญ และได้รับสิทธิประโยชน์จากการจ่ายค่ารักษาพยาบาลโดยรัฐ ผู้สูงอายุที่ไม่มีเงินบำนาญ ก็จะได้รับความช่วยเหลือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากรัฐ
ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา มีพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง เสนอให้ยกเลิกหรือลดเงินบำนาญแก่ข้าราชการบำนาญ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ไม่ดี ข้าราชการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นเวลาหลายสิบปี โดยรับเงินเดือนที่ต่ำกว่าผู้มีความรู้ความสามารถใกล้เคียงกันที่ทำงานในภาคเอกชน เมื่อเขาเกษียนและมีอายุมากแล้ว จึงควรได้รับการดูแลจากรัฐ
เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ก็ไม่ควรยกเลิก แต่อาจมีการปรับปรุง ไม่จ่ายให้คนแก่ที่มีฐานะดี แต่จ่ายเฉพาะผู้ยากจนที่มีความจำเป็น อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงนี้ต้องมีการพิจารณาให้รอบคอบ หากยังไม่มีสถิติรายได้ของผู้สูงอายุแต่ละคนที่ชัดเจน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนี้ก็ไม่ควรยกเลิก

แรงงานชาวต่างด้าว และการส่งแรงงานไปทำงานในต่างประเทศ
ในช่วงเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา มีแรงงานชาวต่างชาติ ที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า เขมร ลาว เข้ามาทำงานในประเทศไทย คนงานเหล่านี้ ส่วนมากเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ต้องทำงานหนัก มีค่าแรงต่ำ(แต่ยังสูงกว่าที่เขาเคยรับในประเทศของตน) การมีแรงงานต่างด้าว มีส่วนบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีความรู้และทักษะต่ำในกิจกรรมบางอย่างได้บางส่วน แต่ต้องควบคุมไม่ให้มีการกดขี่ขูดรีด ควรให้แรงงานต่างด้าวใด้รับสวัสดิการอย่างเหมาะสม และป้องกันการใช้แรงงานต่างด้าวในกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย
ในอีกด้านหนึ่ง มีคนงานไทยที่ออกไปทำงานในต่างประเทศ เช่น ในประเทศที่อยู่ตะวันออกกลาง เกาหลี และสิงคโปร์ เพื่อได้ผลตอบแทนที่สูงกว่า แรงงานไทยที่ออกไปทำงานในต่างประเทศ มีส่วนช่วยสร้างรายรับเงินตราต่างประเทศ และเมื่อเขาเลิกทำงานในต่างประเทศ กลับมาประเทศไทยแล้ว อาจนำความรู้และทักษะที่ได้จากการทำงานในต่างประเทศมาทำงานที่เป็นประโยชน์ และอาจมีส่วนช่วยให้แรงงานอื่นในประเทศมีการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้

ใส่ความเห็น