การค้าต่างประเทศกับการพัฒนวอุตสาหกรรม

  การค้าต่างประเทศ 

ก. ความสำคัญของการค้าต่างประเทศต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม

     การค้าต่างประเทศมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจ  นโยบายและการดำเนินการค้าต่างประเทศมีผลกระทบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม ประเทศต่างๆมีการค้าขายกัน นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เช่น การกำหนดภาษีศุลกากรในสินค้าเข้าสินค้าออก อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ การห้ามส่งออกหรือห้ามนำเข้าสินค้าบางชนิด  การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศและให้กิจการในประเทศของตนออกไปลงทุนในต่างประเทศ ล้วนมีผลกระทบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม

     ในอีกด้านหนึ่ง  การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตที่เกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมก็ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของการค้าต่างประเทศ ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก ก่อนหน้านี้พึ่งส่งออกสินค้าการเกษตร  เมื่อมีการพัฒนาอุตสาหกรรม ก็จะนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมน้อยลง แต่นำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์และสินค้าขั้นกลางเพิ่มขึ้น ต่อมาเเปลี่ยนแปลงนโยบายจากการทดแทนการนำเข้ามาเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมส่งออก โครงสร้างการส่งออกของสินค้าอุตสาหกรรมก็จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ในขณะที่มีการส่งออกของสินค้าการเกษตรลดน้อยลง

ข. รูปแบบของการค้าต่างประเทศ

    การค้าต่างประเทศ อาจเป็นการค้าในสินค้าที่มีลักษณะแตกต่างกัน หรือการค้าระหว่างอุตสาหกรรม(inter-industry trade) ประเทศหนึ่งส่งออกสินค้าการเกษตร เช่น พืชพันธ์ธัญญาหาร ผัก ผลไม้ ไปอีกประเทศหนึ่ง และนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ เครื่องจักรจากประเทศนั้น  หรือเป็นการค้าในอุตสาหกรรมเดียวกัน(intra-industry trade) คือ มีการนำเข้าหรือส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน ในปัจจุบัน การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมีการแยกส่วนออกเป็นหลายส่วน ทำการผลิตในหลายประเทศ แบ่งงานกันเป็นเครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศ(international production network:IPN)  แต่ละประเทศผลิตในแต่ละส่วน แล้วนำมาประกอบกันเป็นสินค้า 

    นอกจากการค้าในสินค้าแล้ว ยังมีการค้าในบริการระหว่างประเทศ เดิมกิจกรรมบริการต่างๆ มักไม่มีการซื้อขายกันระหว่างประเทศ แต่ในปัจจุบัน ความก้าวหน้าในเทคโนโลยีการขนส่งและการสื่อสารคมนาคม กิจกรรมบริการหลายชนิด จึงมีการซื้อขายกันระหว่างประเทศ  บริการที่มีการซื้อขายกันการระหว่างประเทศในปัจจุบันมีหลากหลายชนิด  เช่นบริการด้านข่าวสารข้อมูล การให้คำปรึกษา การศึกษา พยาบาล และการบันเทิงที่มีการบรรจุในเครื่องสื่อสาร เป็นต้น

   ในปัจจุบัน การค้าออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซ(e-commerce)มีความแพร่หลาย การค้าขายในสินค้าอุตสาหกรรมสามารถทำผ่านออนไลน์ การพัฒนาด้านเทคโนโลยีการขนส่งและการสื่อสาร จึงมีผลกระทบต่อการค้าและการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศต่างๆ

ค.การเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์เศรษฐกิจโลกกับการค้าต่างประเทศ

    นอกจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศแล้ว สถานการณ์เศรษฐกิจโลก ก็มีผลกระทบต่อการค้าต่างประเทศด้วย  ในเวลาที่ผ่านมา สถานการณ์เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงไป สัดส่วนการค้าโลกของประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นในขณะที่สัดส่วนในการค้าโลกของประเทศรายได้สูงลดลง 

   ในระยะแรก ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ส่งสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานซึ่งสอดคล้องกับความได้เปรียบของตน ต่อมา ในประเทศเหล่านี้ มีทรัพยากรธรรมชาติบางอย่างลดน้อยลงและมีค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น ต้องเผชิญกับการแข่งขันในสินค้าที่ใช้แรงงานและทรัพยากรณ์ธรรมชาติจากประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า  แต่ถ้ามีการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี โครงสร้างของสินค้าออกก็จะเปลี่ยนแปลงไปโดยมีสัดส่วนสินค้าการใช้ทุนและเทคโนโลยีสูงขึ้น 

    ประเทศที่มีรายได้สูง ก็มีการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างการค้าต่างประเทศ ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อเผชิญกับการแข่งขันในสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรและแรงงาน ประเทศพัฒนาแล้วจำนวนมาก ได้หันไปส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนและเทคโนโลยีหรือทำการส่งออกในบริการมากขึ้น และมีการกีดกันการนำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้น นอกจากแข่งขันกับประเทศกำลังพัฒนาแล้ว ประเทศที่มีรายได้สูงก็ต้องแข่งขันกันเองในสินค้าที่ใช้ทุนและเทคโนโลยีโดยมาตรการกีดกันการค้าที่หลากหลาย

   การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าต่างประเทศของโลก ยังเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในความคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจ และลักษณะของความร่วมมือระหว่างประเทศ ในช่วงทศวรรษ 1950-1980 องค์การข้อตกลงทั่วไปในภาษีศุลกากรและการค้า( General Agreement on Tariff and Trade: GATT) และองค์การการค้าโลก(World Trade Organization:WTO)) ที่สืบทอดต่อจากนั้น ได้จัดการประชุมเจรจาการค้าเสรีระดับโลกหลายรอบ ทำให้อัตราภาษีศุลกากรในประเทศต่างๆลดลงไปมาก  การกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี(non-tariff barriers :NTBs) ก็ลดลงมาก  การค้าโลกในเวลานั้นจึงมีความเสรีมากขึ้น 

    อย่างไรก็ตาม ต่อมา ประเทศต่างๆ ก็มีการใช้มาตรการการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษีมากขึ้นมาตามลำดับ มาตรการการกีดกันการค้า มีการอ้างถึงเหตุผลต่างๆ เช่น เพื่อสุขอนามัย รักษาสิ่งแวดล้อม คุ้มครองสิทธิมนุษยชน และคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา

    องค์การการค้าโลก (WTO) มีการกำหนดกฎระเบียบในการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ กลุ่มข้อตกลงการค้าการลงทุนระหว่างประเทศต่างๆ ก็มีการกำหนดกฎระเบียบเพิ่มขึ้นมาอีกนอกเหนือจากกฎระเบียบองค์การการค้าโลก 

    ในทศวรรษ 1980 เกิดกระแสโลกาภิวัตน์(globalization) เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสารคมนาคม ทำให้การผลิตสินค้าอุตสาหกรรม มีการแบ่งขั้นตอน กระจายออกไปผลิตในประเทศต่างๆมากขึ้น 

   อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา ก็มีเหตุการณ์การทวนกระแสโลกาภิวัติ (deglobalization)เกิดขึ้นในหลายภาคส่วนของโลก  มีการรวมกลุ่มในภูมิภาค  การคุ้มครองอุตสาหกรรมด้วยมาตรการต่างๆก็มีมากขึ้น

   ในสี่ห้าปีที่ผ่านมา สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก การระบาดของโรคโควิด การเปลี่ยนแปลงในภูมิอากาศโลก ความขัดแย้งและการทำสงครามระหว่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจประเทศต่างๆได้รับผลกระทบ  จึงมีกระแสการกีดกันทางการค้ามากขึ้น  การกีดกันระหว่างกัน นอกจากความขัดแย้งทางการค้าแล้ว  ยังเกิดจากความขัดแย้งทางความคิดทางการเมือง ต่อสู้กันทางด้าน้อมูลข่าวสาร กีดกันเพื่อไม่ให้ประเทศคู่แข่งพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูง ห้ามส่งออกอุปกรณ์และวัตถุดิบที่จำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูง เช่น อุปกรณ์กึ่งตัวนำ (semiconductor) และแร่ธาตุหายากที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตอุปกรณ์สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ให้ประเทศคู่แข่ง  ซึ่งนอกจากห้ามบริษัทในประเทศของตนแล้ว ยังชักชวนประเทศพันธมิตรไม่ให้ส่งสิ่งเหล่านี้ไปให้ประเทศคู่แข่งด้วย และมีมาตรการอื่น  เช่น ให้เงินอุดหนุนและสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรให้แก่กิจการที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศกลับมาลงทุนภายในประเทศ และชักจูงกิจการอุตสาหกรรมไฮเท็คส์ต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศตนโดยให้เงินอุดหนุนจำนวนมาก ในการนี้ การแข่งขันกันระหว่างประเทศในอุปกรณ์กึ่งตัวนำ(semicnductor) มีความดุเดือดมาก ในหลายประเทศมีการใช้งบประมาณอุดหนุนในเรื่องนี้ เป็นเงินจำนวนมาก

    การแข่งขันระหว่างประเทศ นอกจากแข่งขันกันด้านการค้าการลงทุน ข้อมูลข่าวสาร และกีดกันการส่งออกแล้ว ยังมีการแข่งขันกันทางด้านการเงิน  เช่น ใช้มาตรการคว่ำบาตร(sanction) ตัดคู่อริออกจากเครือข่ายการชำระเงินระหส่างประเทศ  ห้ามไม่ให้ประเทศอื่นๆซื้อสินค้าจากประเทศคู่แข่ง และยึดทรัพย์ประเทศคู่แข่งที่มีอยู่ในประเทศตนและประเทศพันธมิตร เป็นต้น

นโยบายการค้าต่างประเทศ 

     นโยบายการค้าต่างประเทศ ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมและการคุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศ เหตุผลหรือข้ออ้างของนโยบายการค้าต่างประเทศมีหลายประการ เช่น เพื่อส่งเสริมการจ้างงานในประเทศ  เพื่อปกป้องไม่ให้เกิดการว่างงานจากการนำเข้าสินค้าราคาถูก แบะเพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศ ต่อต้านการแข่งขันที่ไม่ยุติธรรม คุ้มครองอุตสาหกรรมเกิดใหม่เพื่อให้สามารถเจริญเติบโตได้ และใช้การคุ้มครองทางการค้าต่างประเทศเป็นเครื่องมือในการต่อรอง เป็นต้น

    นโยบายการค้าต่างประเทศ อาจเป็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการค้าต่างประเทศในสินค้า หรือในบริการ ซึ่งมีนโยบายเกี่ยวกับการนำเข้า และการส่งออก  นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศด้านต่างๆ  เช่น การรับการลงทุนจากต่างประเทศและการออกไปลงทุนในต่างประเทศ การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ก็เกี่ยวข้องกับการค้าต่างประเทศ และการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ ในที่นี้ จะกล่าวเฉพาะนโยบายการค้าต่างประเทศ  ส่วนการลงทุนต่างประเทศจะกล่าวถึงในบทต่อไป

   มาตรการที่ใช้กันมากในนโยบายการค้าต่างประเทศ คือ การกำหนดอัตราภาษีศุลกากร  ประเทศต่างๆมีการจัดเก็บภาษีในสินค้าเข้า แต่มักไม่มีการเก็บภาษีในสินค้าออก 

   นอกจากภาษีศุลกากรแล้ว มาตรการทางนโยบายการค้าต่างประเทศ ที่เกี่ยวกับสินค้าเข้าและบริการ ยังมีการห้ามนำเข้าและการกำหนดโควต้านำเข้าใน สินค้าและบริการบางชนิด

ภาษีศุลกากร

   การเก็บภาษีศุลกากรในสินค้าเข้า  มีผลกระทบต่อการผลิตและการบริโภคและการผลิตของสินค้านั้นในประเทศ เมื่อสินค้าเข้าต้องถูกเก็บภาษี ราคาขายของสินค้านั้นในตลาดภายในประเทศก็จะสูงขึ้น เท่ากับราคานำเข้าบวกด้วยอัตราภาษีศุลกากร ในกรณีนี้ ผู้ที่ได้รับประโยชน์คือผู้ผลิตสินค้าชนิดนี้ในประเทศ โดยได้รับการคุ้มครองจากการจัดเก็บภาษีสุรากากรของรัฐบาล และเขาอาจขายสินค้าชนิดนี้ในราคาที่สูงขึ้น ส่วนผู้บริโภคเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ ต้องซื้อสินค้านั้นในราคาแพงขึ้น การจัดเก็บภาษีศุลกากรในสินค้าเข้า จึงเป็นการคุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งมีผลต่อการผลิต และการบริโภค  รัฐบาลก็มีรายรับจากการจัดเก็บภาษีมากขึ้น

   การปรับอัตราภาษีศุลกากรนำเข้าให้สูงขึ้นเพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศ เป็นวิธีการที่ใช้กันบ่อยในประเทศต่างๆ ในทศวรรษ 1980 อเมริกามีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าในรถยนต์และเครื่องไฟฟ้าที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ไม่กี่ปีนี้ ก็มีการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าในรถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และแผงโซล่าเซลล์ที่ส่งมาจากจีน เพื่อลดการขาดดุลการค้ากับจีน และปกป้องผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเหล่านี้ในอเมริกา

   การปรับขึ้นภาษีในสินค้าเข้า แม้คุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศได้บ้าง แต่มีผลเสียหลายประการ  นอกจากทำให้ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าที่มีการขึ้นภาษีในราคาสูงขึ้นแล้ว หากสินค้าที่ขึ้นภาษีนั้น เป็นวัตถุดิบ หรือชิ้นส่วนกั้นกลางที่ต้องนำมาผลิตเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายแล้ว ผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมในประเทศ ก็ต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น นอกจากนั้น การคุ้มครองอุตสาหกรรมด้วยการปรับขึ้นภาษีนำเข้า อาจมีผลเสียทำให้อุตสาหกรรมได้รับการปกป้องนี้ ไม่พยายามปรับปรุงประสิทธิภาพหรือลดต้นทุนการผลิตของตนเอง ดังตัวอย่างการคุ้มครองอุตสาหกรรมทารก ที่ทำให้หลายประเทศมีอุตสาหกรรมทารกที่เลี้ยงไม่โต แม้ได้รับการปกป้องคุ้มครองเป็นเวลานาน

   ประเทศที่มีนโยบายการทดแทนการนำเข้าในสินค้าอุตสาหกรรม มักจัดเก็บภาษีการนำเข้าในระดับสูงในสินค้าสำเร็จรูปที่มีการส่งเสริมการผลิตในประเทศ แต่ยกเว้นภาษีหรือมีภาษีระดับต่ำในเครื่องจักรอุปกรณ์ วัตถุดิบและชิ้นส่วนข้ามการอื่นๆที่ใช้ในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมการเก็บภาษีในลักษณะดังกล่าว ทำให้อุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้าได้รับการคุ้มครองในอัตราภาษีที่สูงมาก คือมีอัตราการคุ้มครองแท้จริง (effective rate of protection: ERP) ที่สูงมาก การชักจูงต่างประเทศเข้ามาผลิตสินค้าอุตสาหกรรม โดยการให้สิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุน โดยมีการเก็บภาษีนำเข้าสูงในสินค้า แต่ผู้ผลิตสินค้านั้น ได้รับสิทธิส่งเสริมการลงทุน  ยกเว้นภาษีในการนำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบ และสินค้าขั้นกลางอื่นๆ ทั้งยังมีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่ธุรกิจต่างชาติที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนนี้ด้วย  การทดแทนการนำเข้าในหลายประเทศ จึงไม่ทำให้ดุลการค้าในประเทศที่มีนโยบายนี้ดีขึ้น เพราะต้องนำเข้าเครื่องจักร สินค้าขั้นกลางและวัตถุดิบจากต่างประเทศ และมีผู้ผลิตอุตสาหกรรมทดแทนจำนวนมากที่ไม่มีประสิทธิภาพ จากการได้รับการคุ้มครองสูง  บางประเทศจึงเปลี่ยนจากนโยบายทดแทนการนำเข้าเป็นการเน้นการส่งเสริมส่งออก ซึ่งสอดคล้องกับความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบด้านทรัพยากรของประเทศตนมากกว่า

    ข้อพิจารณาอย่างหนึ่งของการใช้มาตรการการคุ้มครองด้วยการขึ้นอัตราภาษีนำเข้าในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ คือ การตอบโต้จากประเทศคู่ค้าที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้านี้ เมื่อเขาถูกกีดกัน ไม่สามารถออกไปประเทศที่ปรับขึ้นภาษีศุลกากร ได้เหมือนเดิมแล้ว เขาก็อาจตั้งกำแพงภาษีในสินค้าที่นำเข้าจากประเทศนี้ ตอบโต้กันไปมา อัตราภาษีเข้าของทั้งสองประเทศจะมีระดับสูงขึ้นมาก ทำให้ทุกฝ่ายเสียประโยชน์(ยังมีต่อ จะส่งมาทีหลัง)

ใส่ความเห็น