ประสบการณ์การพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศจีน

ประสบการณ์ของประเทศจีนในการใช้เทคโนโลยี พัฒนาภาคการเกษตร

ในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา เทคโนโลยีโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ในยุคปัจจุบัน เทคโนโลยีที่มีการพัฒนาขึ้นมาใหม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลายๆด้าน อาทิ ด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล การสื่อสารโทรคมนาคม การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง เป็นต้น การพัฒนาภาคเศรษฐกิจต่างๆ ล้วนสามารถใช้เทคโนโลยี ให้เป็นประโยชน์ได้

ประเทศจีนเป็นประเทศหนึ่งที่ประสบผลสำเร็จพอสมควร จากการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ประสบการณ์การพัฒนาชนบทและการขจัดความยากจนของจีน มีการกล่าวมาแล้วก่อนหน้านี้ (ใน“นโยบายเศรษฐกิจสำคัญอย่างไร(12)”) ในที่นี้ จะกล่าวถึงประสบการณ์ของจีน เฉพาะ ที่มีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการประกอบกิจกรรมภาคการเกษตร ที่ปรากฎในบทความเรื่อง“ เกษตรปัญญาเปลี่ยนแปลงประเทศจีน“(智慧农业改变中国)ในวารสารเอเชียวีคฉบับภาษาจีน(亚洲周刊)ฉบับวันที่ 1-7 เดือนเมษายน ซึ่งเป็นบทความที่น่าสนใจมาก

เวลานี้ ในประเทศจีน เกิดปรากฎการณ์ใหม่ที่คนหนุ่มสาวเข้าไปร่วมพัฒนาภาคการเกษตร โดยใช้วิธีการผลิตสมัยใหม่ เช่น การใช้หุ่นยนต์ เครื่องบินไร้คนขับ ดิจิตอลเทคโนโลยี และปัญญาประดิษฐ์(人工智能)มาใช้ประโยชน์ในการผลิตและการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ทำให้ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

เทคโนโลยี 5G และ AI ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง ทั้งในการพยากรณ์และควบคุมภูมิอากาศ การทดสอบและปรับปรุงคุณภาพดินและน้ำ การคัดพันธุ์พืช การกำจัดศัตรูพืช การให้ปุ๋ย การเก็บเกี่ยว การบรรจุหีบห่อ การจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตร ตลอดจนการป้องกันโรคระบาดในสัตว์ โดยใช้เครื่องบินไร้คนขับ และโทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์สำคัญ

คนหนุ่มสาวอายุ 20 ถึง 30 ปีที่เรียนจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย แต่ไม่มีงานทำในเมือง ส่วนหนึ่งกลับบ้านเกิด และกลายเป็นกำลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลง พลิกผันวิธีการผลิตและการจัดจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรในประเทศจีน

การมีพืชพันธุ์ธัญญาหารทเพียงพอต่อการบริโภคของประชาชนเป็นปัญหาสำคัญของประเทศจีนมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบัน ประเทศจีนมีประชากรว่า 1,400 ล้านคน หรือเกือบร้อยละ 20 ของประชากรโลก แต่มีพื้นที่ที่เหมาะแก่การเพาะปลูกเพียงประมาณร้อยละเจ็ดของพื้นที่เพาะปลูกของโลก ทั้งยังมีทรัพยากรน้ำ ที่จำกัด การมีอาหารที่เพียงพอจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศจีน ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และมาตรการคว่ำบาตรของประเทศตะวันตกต่อรัสเซีย ทำให้หลายประเทศในยุโรป อเมริกาใต้ แอฟริกา และเอเชีย ประสบปัญหาขาดแคลนอาหารและพลังงาน ราคาอาหารในโลกสูงขึ้นมาก แต่ประเทศจีนได้รับผลกระทบไม่มากนัก การพัฒนาการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้ ได้ผลผลิต จาก ข้าวเปลือก ข้าวสาลี ข้าวโพด ผัก ผลไม้ และสมุนไพรต่างๆ มากขึ้น และมีคุณภาพดีขึ้น รวมทั้งยังทำให้ระบบนิเวศน์และสภาพแวดล้อมในเขตชนบท ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิมด้วย

การเกษตรสมัยใหม่ นอกจากจะทำให้ประสิทธิภาพการผลิตและการจัดจำหน่ายสูงขึ้นกว่าเดิมมากแล้ว ยังทำให้ชนบทจีนมีการพัฒนามากขึ้น เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น การกลับสู่ชนบทของคนหนุ่มสาวยังมีผลบรรเทาปัญหาการว่างานที่เกิดจากเศรษฐกิจซบเซา และทำให้เมืองและชนบทเชื่อมโยงเข้าหากันมากขึ้นด้วย

การผลิต การเก็บเกี่ยว การบรรจุหีบห่อ และการจัดจำหน่ายพืชผลทางการเกษตรต่างๆ ในประเทศจีน มีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างกว้างขวาง การหว่านเมล็ดพันธุ์พืชในพื้นที่กว้างใหญ่ แต่เดิมต้องใช้แรงงานและเวลามาก ปัจจุบันสามารถใช้เครื่องบินไร้คนขับและหุ่นยนต์ช่วย เครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็น นอกจากหุ่นยนต์และเครื่องบินไร้คนขับ ก็คือคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ เกษตรกรหนุ่มสาวส่วนใหญ่สามารถใช้เครื่องมืออุปกรณ์สมัยใหม่ได้อย่างคล่องแคล่ว การกลับสู่ชนบทของคนหนุ่มสาวนี้ ยังทำให้ประเทศจีนคลายความกังวลในปัญหาเรื่องการขาดการสืบทอดอาชีพเกษตรกรที่ต้องทำงานในไร่นาเพื่อผลิตอาหารให้เพียงพอกับประชาชนจำนวนมากด้วย นอกจากนี้ การที่คนหนุ่มสาวกลับบ้านเกิดในชนบท ยังทำให้ครอบครัวชาวชนบทมีความสุขมากขึ้น ต่างจากสมัยก่อน ที่ลูกหลานของเกษตรกร ไปศึกษาในเมือง เมื่อเรียนจบแล้ว ส่วนใหญ่อยู่ทำงานในเมือง มีโอกาสกลับบ้านเพียงปีละครั้งหรือไม่กี่ครั้ง หรืออาจกลับบ้านหลายปีครั้ง สำหรับผู้ที่ออกไปทำงานในสถานที่ที่อยู่ไกลบ้านมากๆ

การมีคนหนุ่มสาวที่มีความรู้กลับเข้าสู่ชนบท ยังส่งผลดีในด้านอื่นๆ อีก เช่น ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว การจัดจำหน่ายสินค้าการเกษตร โดยวิธีการโฆษณาสถานที่ท่องเที่ยวและผลิตผลการเกษตรผ่านเว็ปไซต์ทางอินเทอร์เน็ต บ้างก็เผยแพร่ความรู้ในการสร้างพลังงานทดแทนจากทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นครูช่วยการเรียนการสอนในโรงเรียน ที่แต่เดิม เขตชนบทของประเทศจีนที่อยู่ห่างไกลมีโรงเรียนอยู่น้อย และหาครูผู้สอนได้ยาก แต่เมื่อมีหนุ่มสาวที่มีความรู้กลับมาชนบทมากขึ้น การทำงานก็ไม่ต้องทำงานเต็มเวลา เนื่องจากมีเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัยช่วยดำเนินการ จึงทำให้คนหนุ่มสาวเหล่านี้มีเวลามาทำงานทางด้านอื่นได้

จนถึงปัจจุบัน ปัญหาของคนชนบทที่เข้าไปทำงานในเมืองจำนวนมาก แม้จะมีงานทำ และมีที่อยู่อาศัยในเขตเมือง แต่สำมะโนครัวยังอยู่ในชนบท เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ไม่มีสิทธิ์รับการรักษาพยาบาลฟรีในเมือง เมื่อแต่งงานแล้วมีลูก ลูกก็ไม่มีสิทธิ์รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกับชาวเมืองทั่วไป คนงานบางคนจึงต้องส่งลูกกลับไปให้ปู่ย่าตายายหรือญาติเลี้ยงดูที่ชนบท เด็กในชนบทแม้มีปู่ย่าตายายหรือมีญาติผู้ใหญ่อื่นช่วยเลี้ยงดู แต่ก็ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เพราะพ่อแม่ต้องทำงานในเมือง ปัญหาดูแลลูกคนทำงานในเมืองเป็นปัญหาอย่างหนึ่งของประเทศจีนที่รัฐบาลพยายามแก้ไข แต่จนปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ได้สำเร็จ แม้มีผู้เสนอแนะการปฏิรูประบบสำมะโนครัวให้ชาวชนบทที่มาอยู่ในเมืองมีสิทธิ์เหมือนกับชาวเมืองอื่นๆ แต่ยังไม่มีการนำมาปฏิบัติแต่อย่างใด ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐในเมือง ซึ่งมักมีปัญหาขาดแคลนงบประมาณในการบริหาร ก็ไม่ยินดีที่จะปรับปรุงระบบสัมมะโนครัวเพื่อขยายสิทธิประโยชน์แก่คนงานชาวชนบทที่เข้ามาทำงานในเมือง การมีคนหนุ่มสาวที่มาเรียนหนังสือหรือทำงานในเมืองกลับเข้าสู่ชนบท แม้จนถึงปัจจุบันยังมีไม่มากนัก แต่ก็ทำให้ปัญหาระบบสำมะโนครัวที่เรื้อรังมานานบรรเทาลงมาบ้าง

แม้สภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ของประเทศไทย จะมีความแตกต่างจากประเทศจีน แต่ประสบการณ์การพัฒนาภาคการเกษตรของจีน ก็เป็นตัวอย่างที่สมควรศึกษา ประสบการณ์ของจีน อาจนำมาปรับใช้ในประเทศเราได้ ผู้บริหารเศรษฐกิจไทย ก็มีความกังวลปัญหาการสืบทอดอาชีพเกษตรกรเช่นกัน ในปัจจุบัน ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เกษตรกรจำนวนมากเป็นผู้สูงอายุ คนหนุ่มสาวในชนบทที่ออกไปทำงานหรือเรียนหนังสือในเมือง ส่วนมากไม่กลับไปทำงานในชนบท ในช่วงเวลาที่ผ่านมา อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงมาก งานในเมืองมีจำกัด หากคนหนุ่มสาวที่มีความรู้และมีประสบการณ์ที่มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ กลับไปอยู่ในชนบท น่าจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชนบท และทำให้อาชีพเกษตรกรมีการสืบทอดต่อไปได้

เคยกล่าวมาแล้วว่า ประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่พัฒนามาแล้วได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ประดิษฐ์หรือพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ขึ้นมาเอง ประเทศที่ยังมีความล้าหลังในการพัฒนาเทคโนโลยี หากมีนโยบายชัดเจนที่มุ่งใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี จะพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ดีขึ้น โดยการใช้เทคโนโลยีได้ นโยบายที่จำเป็นคือ ส่งเสริมการพัฒนากำลังคนที่มีความรู้ในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ส่งเสริมการวิจัยพัฒนา สร้างสิ่งสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นต่อการใช้เทคโนโลยี

ในกรณีของประเทศจีน เทคโนโลยีที่นำมาใช้ในภาคการเกษตร ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ประดิษฐ์หรือพัฒนาขึ้นในประเทศจีน แต่ก็นำมาใช้ประโยชน์ได้ ในการนี้ ผู้บริหารประเทศต้องตระหนักถึงความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ มีการรวบรวมและเผยแพร่ข่าวสาร ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ สร้างสิ่งสาธารณูปโภคที่จำเป็น ปรับปรุงกฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ได้สะดวก

ในการพัฒนาภาคการเกษตร ประเทศไทยก็สามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ให้เป็นประโยชน์ได้ ในเวลาที่ผ่านมา นโยบายผลิตผลการเกษตรของรัฐบาลชุดต่างๆ มักมุ่งเน้นไปในทางยกระดับราคา แต่ละเลยการพัฒนาประสิทธิภาพหรือขีดความสามารถในการแข่งขัน ( บทความ “นโยบายเศรษฐกิจสำคัญอย่างไร(11) ที่เขียนไว้ก่อนหน้านี้ มีการกล่าวถึงนโยบายภาคการเกษตรอยู่บ้างแล้ว ผู้สนใจไปอ่านได้) ประเทศไทยมีพื้นที่เหมาะแก่การผลิตสินค้าเกษตร แต่ความสามารถในการแข่งขันในภาคการเกษตรของไทย ไม่มีการปรับปรุงเท่าที่ควร ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีพรรคการเมืองบางพรรคที่บอกเกษตรกรว่า ถ้าขึ้นเป็นรัฐบาล จะทำให้พืชผลมีราคาดีขึ้น เพื่อให้ได้คะแนนเสียงจากเกษตรกร ในเวลาที่ผ่านมา จึงมีนโยบายการเกษตรที่สร้างผลเสียให้กับเศรษฐกิจของประเทศชาติ เช่น การจำนำ(รับซื้อ)ข้าวในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดมากในสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

หากคนหนุ่มสาวที่มีภูมิลำเนาเขตชนบทในต่างจังหวัด ที่ออกไปเรียนหนังสือหรือทำงานในเมือง กลับไปสู่บ้านเกิดในชนบท จะทำอะไรได้บ้าง?

ตัวอย่างงานที่เขาจะทำได้คือ:

ก. ช่วยพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ช่วยแก้ไขความชำรุดทรุดโทรมของสถานที่ท่องเที่ยว

ข. โฆษณาการท่องเที่ยวในภูมิภาค โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ หรือมีนิทานหรือตำนานที่น่าสนใจผ่านทางอินเตอร์เน็ต

ค. ช่วยขายผลิตผลการเกษตรและสินค้าหัตถกรรมผ่านการค้าออนไลน์

ง. เป็นครูสอนหนังสือ สอนเด็กนักเรียนในเขตชนบท และถ่ายทอดความรู้สมัยใหม่ให้แก่ชาวชนบทที่เป็นผู้ใหญ่

จ. เผยแพร่ความรู้การใช้เครื่องมืออุปกรณ์เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศน์ในการหาความรู้ และข่าวสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ชาวขนบท

ฉ. เป็นตัวแทนของชาวชนบท ในการเผยแพร่สภาพเศรษฐกิจสังคม และการประกอบอาชีพในชนบทไทย และสะท้อนถึงปัญหาของชาวชนบท และเสนอแนะแนวทางแก้ไข(หากมี)

อย่างไรก็ตาม การชักชวนคนหนุ่มสาวให้กลับสู่ชนบทนี้ ไม่ควรเป็นการบังคับ แต่ควรอยู่ที่การสมัครใจ หน่วยงานรัฐบาลอาจส่งเสริมโดยการให้ข้อมูลข่าวสาร หรือให้ความช่วยเหลือในบางด้านที่จำเป็น ควรมีการติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ในเขตชนบท แต่ไม่ควรมีนโยบายกำหนดให้ผู้มีภูมิลำเนาในชนบทในเขตภูมิภาคจะต้องกลับสู่บ้านเกิดในต่างจังหวัด ในกรณีของประเทศจีน การที่คนหนุ่มสาวกลับสู่บ้านเกิดในเขตชนบท ก็ไม่ได้เกิดจากการบังคับของรัฐ แต่เกิดจากวิวัฒนาการการเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจของประเทศ

ประสบการณ์การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจีน นอกจากการพัฒนาชนบท ภาคการเษตร และการขจัดความยากจนแล้ว การพัฒนาเศรษฐกิจทางด้านอื่นๆ เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรม การค้าการลงทุนระหว่างประเทศ การสร้างสิ่งสาธารณูปโภค การพัฒนาเทคโนโลยีและกำลังคน ในเวลากว่าสี่ทศวรรษ หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายสู่การปฏิรูปและการเปิดประเทศในปลายทศวรรษ 1970 เป็นสิ่งที่น่าสนใจที่ควรแก่การศึกษา (หากสนใจ อาจดูบทความชุด “ความเจริญและความเสื่อมของเศรษฐกิจจีน: จากอดีตถึงปัจจุบัน ตอนที่ 13 ถึง 20 )ได้

ใส่ความเห็น