แนวคิดและศัพท์เศรษฐศาสตร์ที่น่าสนใจ : การคุ้มครองแบบใหม่ (New Protectionism)

การคุ้มครองอุตสาหกรรมแบบใหม่(new protectionism)

    ในช่วงสามสี่ทศวรรษที่ผ่านมา รูปแบบการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ และการพัฒนาอุตสาหกรรมในส่วนต่างๆของโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก การพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศต่างๆมีผลทำให้สัดส่วนของสินค้าสำเร็จรูปลดลงไป แต่สัดส่วนของสินค้าขั้นกลางเพิ่มขึ้นมามาก นโยบายการค้าต่างประเทศและการพัฒนาอุตสาหกรรมก็เปลี่ยนแปลงไปมาก การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก นำไปสู่การใช้นโยบายและมาตรการการคุ้มครองอุตสาหกรรมที่มีรูปแบบแตกต่างไปจากเดิม

    หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศต่างๆในโลก มีแนวความคิดการค้าเสรีมากขึ้น ข้อตกลงทั่วไปภาษีศุลกากรและการค้า(General Agreements onTariffs and Trade:GATT)  และองค์การการค้าโลก (World Trade Organization:WTO) ที่สืบทอดภารกิจการส่งเสริมการค้าเสรีต่อจากนั้น ได้จัดประชุมทำข้อตกลงลดภาษีศุลกากรหลายรอบ  จนภาษีศุลกากรที่จัดเก็บกับสินค้าเข้าในประเทศต่างๆลดลงไปมาก อย่างไรก็ตาม มาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี(non-tariff bariers) เช่น กำหนดโควต้าจำกัดการนำเข้า กฎระเบียบที่เข้มงวดการนำสินค้าเข้า ให้อุดหนุนแก่ผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมในประเทศ และจนการรวมกลุ่มระหว่างประเทศเพื่อปกป้องผลประโยชน์ (international cartels) เช่น การรวมหัวขึ้นราคาของกลุ่มประเทศส่งออกน้ำมันโอเปค (OPEC)  และการทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศ หรือระหว่างสองประเทศ เพื่อให้สิทธิประโยชน์ทางการค้าและการลงทุนแก่กัน แต่ยังเก็บภาษีนำเข้าและมีมาตรการกีดกันประเทศที่ไม่อยู่ในกลุ่มข้อตกลงการค้าเสรี

  การคุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศรูปแบบใหม่ (new protection) มีหลายรูปแบบ และมีผลกระทบต่อการค้าและการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศต่างๆ เช่น อ้างการปกป้องสิทธิมนุษยชน รักษาสิ่งแวดล้อม คุ้มครองแรงงาน  และคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา  ซื้อสินค้าที่ผลิตภายในประเทศโดยหน่วยงานของรัฐบาล  เก็บภาษีการทุ่มตลาด(anti-dumping duty)  ให้สิทธิประโยชน์แก่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูง เพื่อรักษาความได้เปรียบหรือลดความเสียเปรียบในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง เป็นต้น

    การคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศรูปแบบเดิม ส่วนมากมีการใช้มาตรการทางการค้าระหว่างประเทศ เช่น ตั้งกำแพงภาษี ห้ามนำเข้าหรือกำหนดโคต้าเข้าที่มีการผลิตในประเทศ แต่การคุ้มครองแบบใหม่ เน้นการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (non-tariff barriers) เช่นให้อุดหนุนแก่ผู้ผลิตอุตสาหกรรมในประเทศ ห้ามส่งออกสินค้าและส่วนประกอบที่มีความสำคัญต่อการผลิตไปต่างประเทศ  ในบางประเทศ นอกจากห้ามบริษัทในประเทศของตนไม่ให้ส่งสินค้าเหล่านี้ออกไปประเทศคู่แข่งแล้ว ยังชักชวนให้ประเทศพันธมิตรงดส่งสินค้าและชิ้นส่วนเหล่านี้ให้ประเทศนั้นด้วย นอกจากนั้น ยังมีการให้สิ่งจูงใจที่แก่บริษัทในประเทศของตนที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศถอนการลงทุนจากต่างประเทศแล้วกลับมาลงทุนภายในประเทศ 

   ตั้งแต่ทศวรรษ1980 เป็นต้นมา มีแนวคิดนโยบายการค้าต่างประเทศเชิงยุทธศาสตร์(strategic trade policy) หนังสือและบทความวิชาการในเรื่องมีอยู่เป็นจำนวนมาก

   นโยบายการค้าเชิงยุทธศาสตร์นี้ เน้นประโยชน์การแทรกแซงของรัฐบาล ด้วยนโยบายอุตสาหกรรมในสินค้าที่มีลักษณะแตกต่างกับผู้อื่นที่มีผู้ผลิตน้อยราย เช่น อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูงที่มีผลได้สูงขึ้น และมีต้นทุนลดลงเมื่อมีการผลิตเพิ่มขึ้น(มี increasing returns to scale) หรือมีการประหยัดต่อขนาด (economies of scale) ในกรณีนี้ การช่วยเหลือของรัฐบาล และการแทรกแซงทางการค้าระหว่างประเทศ จะเอื้อประโยชน์ต่อประเทศที่มีอุตสาหกรรมนี้ให้เจริญเติบโต ส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ  การแทรกแซงของรัฐบาลทำได้หลายรูปแบบ เช่นให้เงินทุนทำการวิจัยและพัฒนา และให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากร  นโยบายการค้าต่างประเทศยุทธศาสตร์ คือ สนับสนุนการส่งออก ปกป้องสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา หรือความลับทางเทคโนโลยี  เพื่อไม่ให้เทคโนโลยีการผลิตรั่วไหลออกไปสู่ต่างประเทศที่เป็นประเทศคู่แข่ง  แต่ร่วมมือกับบางประเทศพัฒนาเทคโนโลยีผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่มีความสำคัญ

   แนวคิดนโยบายการค้าเชิงยุทธศาสตร์นี้ มีผู้วิพากษ์วิจารณ์กันมาก อุตสาหกรรมที่จะเข้าข่ายควรได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ไม่อาจชี้ออกมา หรือไม่สามารถแยกแยะได้ชัดเจน การบ่งบอกว่า อุตสาหกรรมใดควรได้รับการช่วยเหลือ ก็หาข้อมูลได้ยาก ในหลายประเทศ นโยบายการค้าต่างประเทศเชิงยุทธศาสตรนี้ มักเป็นการเอื้อประโยชน์แก่อุตสาหกรรมบางกลุ่มที่มีอิทธิพลทางการเมือง แต่ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติที่ใช้นโยบายนี้แต่อย่างใด  อย่างไรก็ตาม การคุ้มครองอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีสูงนี้  ได้มีการใช้แล้วในหลายประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกา จีน และบางประเทศในยุโรป

  ในทศวรรษ 1980 มีกระแสโลกาภิวัตน์(globalization)เกิดขึ้นในส่วนต่างๆของโลก ความคิดการเปิดเสรี(liberalization)  การลดกฎระเบียบ (deregulation) และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (privatization) มีความแพร่หลาย   การค้าและการลงทุนของโลกมีการเจริญเติบโตในอัตราสูง สินค้าอุตสาหกรรมมีการแยกส่วนผลิตในประเทศต่างๆ  อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองของโลกในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา เช่น ความขัดแย้งดัานภูมิรัฐศาสตร์ โรคระบาด การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ตลอดจน ความคิดที่กีดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศอื่น ทำให้แนวความคิดโลกาภิวัตน์ เปลี่ยนไปเป็นกระแสทวนโลกาภิวัตน์  (deglobalization)  ประเทศต่างๆมีความขัดแย้งและกีดกันระหว่างกันมากขึ้น  องค์การการค้าโลกมีบทบาทส่งเสริมการค้าเสรีระดับโลกลดน้อยลง การรวมกลุ่มการค้าการลงทุนระดับภูมิภาคและระดับทวิภาคีมีมากขึ้น กฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศที่กำหนดโดยองค์การการค้าโลกยังคงมีอยู่  แต่ก็มีกฎระเบียบใหม่ที่กำหนดขึ้นโดยประเทศต่างๆที่กีดกันการค้าและคุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศเกิดขึ้นจำนวนมาก

   ความขัดแย้งระหว่างประเทศ  นอกจากความขัดแย้งทางการค้าแล้ว ยังมีความขัดแย้งทางเทคโนโลยี  ต่อสู้ทางข่าวสารข้อมูลโฆษณาชวนเชื่อ กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อให้มีผลคุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศของตน และใช้มาตรการต่างๆในการลงโทษประเทศคู่แข่ง ตัวอย่าง คือ การใช้มาตรการคว่ำบาตร (sanction)ของสหรัฐอเมริกาที่ทำต่อประเทศคู่อริ ซึ่งมีการยึดทรัพย์สินของต่างชาติที่มีอยู่ในอเมริกา ตัดคู่แข่งออกจากระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ ห้ามส่งสินค้า ชิ้นส่วนอุปกรณ์และวัตถุดิบที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยีไปประเทศคู่แข่ง ห้ามนำเข้าสินค้าส่งออกจากบางประเทศ ซึ่งนอกจากทำเช่นนี้กับประเทศคู่แข่งแล้ว ยังชักชวนประเทศพันธมิตรทำในลักษณะเช่นนี้ด้วย ส่วนประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควํ่าบาทหรือกีดกันก็มีมาตรการตอบโต้ ห้ามส่งวัตถุดิบที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตสินค้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น แร่ธาติหรือโลหะมีค่า ออกไปประเทศที่ลงโทษเขา ทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคของประเทศนั้นต้องได้รับผลกระทบ นอกจากนั้น ยังให้สิทธิประโยชน์พิเศษแก่อุตสาหกรรมไฮเทคที่บีอยู่ในประเทศอื่นมาทำการลงทุนในประเทศของตน เช่น ในกรณีของสหรัฐอเมริกาที่ให้เงินอุดหนุนแก่ผลิตอุปกรณ์บริษัทที่ผลิตกึ่งตัวนำ(semiconductor)ในเกาหลีและไต้หวันไปลงทุนในอเมริกา โดยรัฐบาลอเมริกาให้เงินชดเชยแก่ผู้ผลิตอุปกรณ์ไฮเทค เป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันก็ชักชวนให้ประเทศพันธมิตรที่มีอุปกรณ์ไฮเทคนี้ ไม่ให้ส่งอุปกรณ์เหล่านี้ให้แก่ประเทศที่เป็นอริกับอเมริกา

   นโยบายและมาตรการการคุ้มครองใหม่นี้ มีผลกระทบต่อรูปแบบการค้าการลงทุนของโลก เช่น ประเทศและกลุ่มประเทศที่มีความขัดแย้งกับอเมริกา มีความพยามใช้เงินตราและกลุ่มประเทศของตนโดยพึ่งการใช้ดอลลาร์อเมริกันน้อยลง การกีดกันทางการค้าของอเมริกาต่อจีน ทำให้อุตสาหกรรมประเทศจีนออกไปลงทุนในประเทศอื่น เพื่อหลีกเลี่ยงการกีดกันการนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนที่ส่วออกไปอเมริกา ไม่กี่ปีมานี้  การลงทุนอุตสาหกรรมจีนในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใตี จึงได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศในปัจจุบัน จึงต้องพิจารณาการเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจการเมืองโลก และมีนโยบายตอบสนองต่อสถานการณ์ใหม่เพื่อได้รับประโยชน์ และเพื่อไม่ให้เสียประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก

ใส่ความเห็น