ความเจริญและความเสื่อมทางเศรษฐกิจของประเทศ(1)

ความเจริญและความเสื่อมของเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ (1)
1.บทนำ
ทุกประเทศล้วนต้องการเห็นเศรษฐกิจมีความเจริญก้าวหน้า: มีการขยายตัวต่อเนื่อง ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี ไม่ต้องประสบกับความอดอยากขาดแคลน ภาคเศรษฐกิจต่างๆมีความสามารถในการแข่งขันสูง และมีการกระจายรายได้ที่ไม่มีความเหลื่อมล้ำเกินไป แต่เมื่อเราพิจารณาผลการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่างๆในโลก จะพบว่ามีอยู่จำนวนน้อยเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ ประเทศส่วนใหญ่แม้มีรายได้สูงกว่าแต่ก่อน แต่ยังมีฐานะที่ยากจน ประชาชนมีความเป็นอยู่แร้นแค้นบางประเทศที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจมาก่อน ต้องประสบกับความเสื่อมถอยในเวลาต่อมา
ในปัจจุบัน สถานการณ์เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไป วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ากว่าเดิมมาก การพัฒาประเทศจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ประเทศที่ปรับตัวไม่ได้อาจต้องประสบความเสื่อมถอย ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้
หลังจากเขียนบทความชุด”ความเจริญและเสื่อมของเศรษฐกิจีน:จากอดีตถึงปัจจุบัน”เสร็จสิ้นลงแล้ว คิดว่าควรหันมาเขียนเรื่องความเจริญและความเสื่อมทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆโดยทั่วไป เรื่องนี้มีการเขียนมาบ้างแล้ว เช่น บทความ”ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการพัฒประเทศระยะยาว” “บทเรียนที่ได้รับจากประสบการณ์การพัฒนาในประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน” และ”การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศ”เป็นต้น
บทความนี้ สรุปอีกครั้งถึงสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และพิจารณาว่า ทำอย่างไรจึงสามารถรักษาความสำเร็จในการพัฒนาให้มีความยั่งยืนโดยไม่ต้องประสบกับความเสื่อมถอย

2.ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ
ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ มีทั้งสิ่งตามธรรมชาติ และสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น อาทิ ทำเลที่ตั้ง ภูมิอากาศ และขนาดประเทศ ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ความพร้อมมูลของสิ่งสาธารณูปโภค เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองโครงสร้างเศรษฐกิจและประชากร ระดับการศึกษา ตลอดจนวัฒนธรรม ประเพณี และอุปนิสัยของประชาชน
สิ่งที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่กล่าวมาข้างต้น บางอย่าง เช่น ทำเลที่ตั้ง ภูมิประเทศและภูมิอากาศ ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ แต่ก็มีหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงได้ แม้แต่ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติก็เปลี่ยนแปลงได้ในระยะยาว โครงสร้างและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองก็เปลี่ยนได้ จากการปรับเปลี่ยนนโยบายการบริหารประเทศ วัฒนธรรม ประเพณี และอุปนิสัยของประชาชน เป็นผลที่เกิดจากการบ่มเพาะวิวัฒนาการมาเป็นเวลานาน ยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้ในระยะสั้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนไม่ได้เลย การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยการศึกษาอบรม และการเปลี่ยนแปลงขทางเศรษฐกิจสังคมและการเมือง ก็อาจมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนความเชื่อและอุปนิสัยของประชาชนในระยะยาวได้
ดังนั้น ปัจจัยทางธรรมชาติ วิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร อาจมีความสำคัญน้อยกว่านโยบายและการนำนโยบายมาปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม เมื่อสภาพการณ์เปลี่ยนไป ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ทันกับสถานการณ์ด้วย
ต่อไป จะยกตัวอย่างประเทศที่แม้มีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติเหมือนกัน แต่มีผลการพัฒนาเศรษฐกิจที่แตกต่างกันจากการเปลี่ยนแปลงนโยบาย3. ตัวอย่างการพัฒนาเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว จากบทความชุด"ความเจริญและความเสื่อมของเศรษฐกิจจีน:จากอดีตถึงปัจจุบัน" ในสี่ตอนสุดท้าย แสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนนโยบายมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจมาก ในช่วง 30 ปีแรกหลังปีค.ศ.1949 ที่บริหารประเทศโดยพรรคคอมมิวนิสต์ จีนยังเป็นประเทศที่ยากและล้าหลังมาก แต่หลังจากการปฏิรูปและการเปิดประเทศทางเศรษฐกิจมาเป็นเวลากว่า 40 ปี จีนได้ผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจของโลก ประชาชนมีความอยู่ดีกินดี ภาคเศรษฐกิจต่างๆ ก็มีความเจริญก้าวหน้าขึ้นมาก ประเทศจีนมีภูมิประเทศ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่เหมือนกันก่อนและหลังการปฏิรูป การเจริญเติบโตของจีนในช่วงกว่า 40 ปีที่ผ่านมา ปัจจัยสำคัญจึงจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ ตัวอย่างของการดำเนินนโยบายที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดผลต่างกัน ยังมีหลายประเทศ ในกรณีของเยอรมัน หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศเยอรมันแบ่งออกเป็นสองส่วนที่มีระบอบการปกครองแตกต่างกันเป็นเวลากว่า 40 ปี จึงรวมเป็นปึกแผ่นเดียวกัน ภาคตะวันออกของเยอรมันถูกยึดครองโดยฝ่ายสหภาพโซเวียต มีการปกครองในระบบสังคมนิยม ในขณะที่ภาคตะวันตก มีนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยม หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เยอรมันมีปัญหาทางเศรษฐกิจหลายอย่าง สิ่งสาธารณูปโภคถูกทำลาย มีภาวะเงินเฟ้อสูงมาก ประชาชนมีรายได้ต่ำ ภาคเศรษฐกิจมีความล้าหลัง ทั้งภาคตะวันออกและตะวันตกต่างมีการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยภาคตะวันออกใช้นโยบายเศรษฐกิจสังคมนิยมแบบสหภาพโซเวียต ภาคตะวันตกใช้โยบายเสรีนิยมตามแบบอย่างชาติตะวันตก จนถึงปลายปีค.ศ. 1989 เกิดเหตุการณ์การพังทะลายกำแพงกรุงเบอร์ลิน ชาวเยอรมันตะวันออกที่ยากจนกว่ามาก พยายามหนีเข้ามาในภาคตะวันตก จนในที่สุด เยอรมันทั้งสองภาครวมเป็นประเทศเดียวกัน สหภาพโซเวียต ซึ่งก็ต้องประสบปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองในขณะนั้น จึงไม่สามารถส่งกำลังทหารไปสนับสนุนรัฐบาลเยอรมันตะวันออกในช่วงที่ประชาชนในภาคตะวันออกพยายามหนีไปฝั่งตะวันตก ก่อนการแยกประเทศ ฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนเยอรมันในทางสองภาคไม่มีความแตกต่างกันมากนัก แต่ในช่วงเวลากว่า 40 ปีที่มีการแยกรัฐบาลกัน ชาวเยอรมันตะวันออกมีความเป็นอยู่ที่ยากจนกว่าชาวเยอรมันตะวันตกมาก การใช้นโยบายเศรษฐกิจแตกต่างกันมีส่วนสำคัญต่อการเจริญเติบโต ในเยอรมันตะวันตก มีเศรษฐกิจระบบตลาดมีนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจ มีการปรับเปลี่ยนระบบเงินตรา ลดภาษี ยกเลิกการควบคุมราคา ส่งเสริมการลงทุน พัฒนาภาคอุตสาหกรรม เกษตรและบริการ ต่อมายังได้รับความช่วยเหลือจากอเมริกาตามแผนมาแชล (Marshall Plan) เยอรมันตะวันออกแม้ก็ได้รับความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียต แต่การใช้นโยบายเศรษฐกิจสังคมนิยม แม้ทำให้ประชาชนมีรายได้ที่เท่าเทียมกัน แต่มีการเจริญเติบโตต่ำกว่ามาก หลังจากการรวมประเทศ เยอรมันตะวันออกเปลี่ยนนโยบายการพัฒนาเป็นระบบตลาด ทำให้เศรษฐกิจมีการกระเตื้องขึ้นมามาก

ในกรณีเกาหลี ก็มีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน สงครามเกาหลี ในระหว่างปีค.ศ.1950-1953 ทำให้เกาหลีแยกออกเป็นเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ก่อนแยกกัน เกาหลีเหนือมีฐานะเศรษฐกิจดีกว่าเกาหลีใต้ แต่ปัจจุบัน เกาหลีใต้เป็นประเทศรายได้สูง มีภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการที่มีขีดความสามารถการแข่งขันสูง ในขณะที่เกาหลีเหนือเป็นประเทศที่ยากจน เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในสี่เสือที่เรียกกันว่าเศรษฐกิจอุตสาหกรรมใหม่(new industrializing economies)ในทวีปเอเชีย ซึ่งมีสิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ที่มีอัตราการเติบสูงในทศวรรษ 1980 และยังมีระดับการพัฒนาในระดับที่สูงพอควรในปัจจุบัน
เศรษฐกิจเกาหลีใต้ มีการพัฒนามากในทศวรรษ 1960 ในช่วงปักจุงฮี(Park Chunhee)เป็นประธานาธิบดี ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่หนึ่ง(ค.ศ.1961-1966) มีนโยบายสร้างสิ่งสาธารณูปโภค พัฒนาการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ พัฒนาเทคโนโลยีและกำลังคน และเน้นการส่งเสริมการส่งออก ในช่วงแรก สินค้าออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่นเสื้อผ้า ผมปลอม ต่อมา เมื่ออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานและทรัพยากรมีการส่งออกที่ชะลอตัวลง เกาหลีก็หันไปพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ เครื่องจักรกล ปิโตรเคมี และการต่อเรือ จากความพร้อมของเทคโนโลยีและกำลังคน อุตสาหกรรมเหล่านี้ก็ประสบผลสำเร็จได้ดี
ความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ มีการกล่าวขวัญกันในนาม”มหัศจรรย์แม่น้ำฮัน”( Miracle on the Hun River ) เกาหลีเริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงเวลาเดียวกันกับไทย ในช่วงเริ่มแผนพัฒนาฉบับที่หนึ่งในปีค.ศ. 1961 เกาหลีมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพียง 80 เหรียญอเมริกัน เทียบกับไทยที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 100 เหรียญต่อปี มาถึงปัจจุบัน เกาหลีมีรายได้เกินสามหมื่นเหรียญอเมริกันต่อคนต่อปี ซึ่งมากกว่ารายได้ของคนไทยหลายเท่าตัว
ตัวอย่างของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ประสบผลสำเร็จ หรือต้องเผชิญกับความล้มเหลวโดยไม่เกี่ยวกับธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมยังมีอีกมาก ประสบการณ์ของสิงคโปร์และฟิลิปปินส์ที่เป็นสมาชิกกลุ่มอาเซียนร่วมกับไทย ก็เป็นตัวอย่างที่ดี หลังจากรับเอกราชแล้ว สิงคโปร์ไม่มั่นใจว่า จะพัฒนาประเทศโดยลำพังได้ เพราะขาดแคนทรัพยากรและเทคโนโลยี จึงได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซียในปีค.ศ. 1963 แต่สิงคโปร์มีประชาชนเชื้อสายจีนสัดส่วนสูง เผอิญสมัยนั้น เกิดปัญหาการขัดแย้งของประชาชนที่มีเชื้อชาติต่างกันในมาเลเซีย รัฐสภามาเลเซียจึงมีมติขับไล่สิงคโปร์ออกจากพันธรัฐมาเลเซีย สิงคโปร์จึงกลับมาเป็นประเทศเอกราชในค.ศ. 1965 ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาประเทศ เร่งสร้างสิ่งสาธารณูปโภค ส่งเสริมการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและบริการ การลงทุนจากต่างประเทศ พัฒนาเทคโนโลยีและกำลังคน และมีนโยบายเศรษฐกิจสังคมและการเมืองที่สร้างความปรองดองให้แก่ประชาชนที่มีเชื้อชาติต่างกัน จึงไม่มีปัญหาขัดแย้งทางสังคม ในปัจจุบัน สิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่มีรายได้สูง มีรายได้เฉลี่ยราว 60,000 เหรียญอเมริกันต่อคนต่อปี ซึ่งรวยกว่ามาเลเซียที่มีรายได้เฉลี่ย 12,500 เหรียญต่อคนต่อปีมาก
ฟิลิปปินส์เคยเป็นประเทศที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมในระดับที่สูงกว่า และมีรายได้เฉลี่ยมากกว่าประเทศอาเซียนอื่นๆ แต่ในปัจจุบันมีรายได้ต่ำกว่าไทยและอินโดนิเซีย และมีภาคอุตสาหกรรมและเกษตรที่อ่อนแอกว่า ชาวฟิลิปปินส์ที่มีความรู้ความสามารถจำนวนมากอพยพออกไปอยู่ในต่างประเทศ โดยไม่ได้ถูกนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ แม้แต่ละปี คนเหล่านี้ได้ส่งเงินกลับฟิลิปปินส์ ช่วยจุนเจือเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก 4. ความเจริญและความเสื่อมของสหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่โชคดีมาก มีข้อได้เปรียบหลายอย่างเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในโลก: มีทำเลที่ตั้งที่ดี พื้นที่กว้างใหญ่ ความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่มีไม่มาก(อเมริกามีพื้นที่ใกล้เคียงกับจีน แต่มีประชากรน้อยกว่าจีนมาก) มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ มีชายฝั่งทะเลยาวทั้งภาคตะวันออกและตะวันตก คนผิวขาวที่อพยพมาอเมริกาส่วนใหญ่เป็นผู้มีการศึกษา เมื่อตั้งประเทศ ผู้นำฐบาลรุ่นแรกๆ ก็มีการวางระบบการเมืองและสังคมที่ดี สหรัฐอเมริกาจึงสามารถพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และสังคมไม่มีความขัดแย้งกันมาเป็นเวลานาน สมรภูมิของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสองอยู่ในทวีปยุโรปและเอเชีย อเมริกาแม้ร่วบรบและเป็นประเทศชนะสงคราม แต่ไม่ได้รับความเสียหาย หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกาได้ก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจของโลก เศรษฐกิจแข็งแรง ภาคการเกษตร อุตสาหกรรมและบริการเจริญก้าวหน้า การพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมีระดับสูง มีแสนยานุภาพที่แข็งแกร่ง ระบบการเงินระหว่างประเทศในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่ตกลงกันระหว่างก่อตั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(International Monetary Fund: IMF) ได้เอื้อประโยชน์ต่ออเมริกามาก เงินดอลล่าร์อเมริกันเป็นที่นิยมใช้กันทั่วโลก ก่อนเดือนสิงหาคมปีค.ศ. 1971 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาผูกค่าเงินดอลล่าร์กับทองคำ ประเทศต่างๆที่มีเงินดอลล่าร์ เอาเงินดอลล่าร์มาแลกกับทองคำได้ หลังจากเดือนสิงหาคมค.ศ. 1971 ดอลล่าร์เลิกผูกกับทองคำแล้ว แต่ด้วยความเคยชิน ประกอบกับอเมริกามีฐานะเศรษฐกิจที่มั่นคง เงินดอลล่าร์ก็ยังเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในตลาดโลก สหรัฐอเมริกาใช้เงินดอลล่าร์ซื้อสินค้าจากประเทศต่างๆทั่วโลกได้ การซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศของอเมริกา ทำได้โดยใช้เงินดอลล่าร์อเมริกัน ที่ไม่มีสินทรัพย์อะไรหนุนหลัง ซึ่งต่างกับประเทศอื่นที่ต้องส่งสินค้าออกเพื่อได้เงินตราต่างประเทศแล้ว จึงซื้อสินค้าจากประเทศได้ การยอมรับเงินดอลล่าร์ในตลาดโลกนี้ ทำให้คนอเมริกันมีการใช้จ่ายเกินตัว และก่อหนี้ต่างประเทศจำนวนมากได้ ทั้งยังก่อหนี้เพิ่มขึ้นได้อีกตราบใดที่เงินดอลล่าร์ยังเป็นที่ยอมรับกันอยู่ ในสหรัฐอเมริกา ประชาชนมีรายได้และมาตรฐานการครองชีพสูง ผู้ที่มีความรู้ความสามารถมีผลตอบแทนการทำงานสูง แต่ก่อนอเมริกาไม่มีนโยบายกีดกันคนต่างชาติ คนเก่งทั่วทุกมุมโลกจึงพากันอพยพไปทำงาน ทำให้ในภาคเศรษฐกิจต่างๆ ของอเมริกา มีนักวิชาการ และผู้มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโลโลยีจำนวนมาก จนถึงปัจจุบัน สหรัฐอเมริกายังมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก และยังเป็นประเทศที่มีรายได้สูงอยู่ แต่ก็เสื่อมถอยลงไปมาก ในแต่ละด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจสังคม การเมือง และการต่างประเทศ ต้องประสบกับปัญหาหลายอย่างที่นำไปสู่ความเสื่อมถอย ในเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมาโครงสร้างเศรษฐกิจของอเมริกามีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ปัจจุบันในผลิตภัณฑ์ประชาชาติขออเมริกาการบริโภคมีสัดส่วนสูงมาก แต่การออมมีระดับต่ำ มีสัดส่วนของภาคบริการสูงกว่าร้อยละ 80 แต่ภาคอุตสาหกรรมมีเพียงประมาณร้อยละ 10 การผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ต้องพึ่งชิ้นส่วนและวัตถุดิบต่างประเทศในสัดส่วนสูง อเมริกาเป็นเศรษฐกิจที่มีการการใช้จ่ายเกินตัว มีผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือรายได้ประชาชาติต่ำกว่าการใช้จ่าย จึงมีการขาดดุลการค้าระดับสูง และการขาดดุลนี้เพิ่มขึ้นมากเมื่อเวลาผ่านไป จากสูตรการคำนวณรายได้ประชาชาติ ประเทศใดหากมีผลผลิตหรือรายได้น้อยกว่าการใช้จ่าย ก็จะมีการนำเข้ามากกว่าการส่งออก ต้องขาดดุลการค้า ถ้าจะลดการขาดดุล ก็ต้องผลิตเพิ่มขึ้นและใช้จ่ายน้อยลง แต่อเมริกาทำไม่ได้ จึงต้องมีการขาดดุลการค้าอย่างเลี่ยงไม่ได้ เมื่อขาดดุลการค้า รัฐบาลอเมริกาก็จะใช้นโยบายกีดกันทางการค้า คือการขึ้นภาษีศุลกากรในสินค้าเข้า หรือการกีดกันปกป้องการค้าด้วยวิธีอื่น เพื่อให้มีการนำเข้าลดลง แต่การทำเช่นนี้ มีผลเสียต่อเศรษฐกิจการกีดกันทางการค้าไม่เพียงไม่ได้ทำให้การขาดดุลลดลง ยังทำให้สินค้าและบริการนำเข้ามีราคาสูงขึ้น ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าราคาแพงขึ้น ยกตัวอย่าง: สหรัฐมีการขาดดุลการค้ากับประเทศจีนจำนวนมาก จึงขึ้นภาษีในสินค้าที่นำเข้าจากประเทศจีน ในการนี้แม้ลดการนำเข้าจากประเทศจีนได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้อเมริกาลดการขาดดุลลง ตราบใดที่อเมริกาไม่เพิ่มผลผลิต และไม่ลดการใช้จ่าย ก็ต้องซื้อสินค้าจากต่างประเทศมากกว่าการส่งออกอยู่ดี แม้ซื้อสินค้าจากจีนน้อยลง ก็ต้องไปซื้อจากประเทศอื่นมากขึ้น การขึ้นภาษีนำเข้า มีผลเสียเศรษฐกิจคือ:ผู้บริโภคซื้อสินค้าในราคาแพงขึ้น ผู้ผลิตต้องซื้อชิ้นส่วนและวัตถุดิบจากประเทศจีนในราคาที่สูงขึ้น ทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น และมีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม นอกจากนั้น อเมริกายังอาจต้องประสบกับภาวะเงินเฟ้อจากราคาสินค้าที่สูงขึ้น นอกจากขาดดุลทางการค้าแล้ว อเมริกายังมีหนี้ต่างประเทศระดับสูงในประเทศอื่น หากมีหนี้ประเทศต่างประเทศสูงมาก จนไม่สามารถชำระหนี้ได้แล้ว ก็ต้องประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจ แต่อเมริกา แม้ขยับเพดานหนี้หลายครั้ง ก็ไม่ประสบกับปัญหาวิกฤติการเงิน เพราะประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศเจ้าหนี้ยังยอมรับเงินดอลล่าร์อยู่ อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตข้างหน้า ประเทศต่างๆทั่วโลกไม่มีความเชื่อถือในความมั่นคงของดอลลาร์อเมริกัน เครดิตประเทศก็จะตกต่ำลงมาก ประเทศต่างๆก็จะพากันถือเงินดอลลาร์น้อยลง จนอาจถึงกับเลิกใช้เงินดอลลาร์เลย ถึงเวลานั้น อเมริกาก็ต้องประสบกับภาวะที่ล้มละลาย อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาอเมริกาคือ ความสามารถในการแข่งขันลดลง เมื่อหลายสิบปีก่อน อเมริกามีภาคอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง บริษัทรถยนต์ เหล็กกล้า และเครื่องไฟฟ้าของอเมริกา เช่น บริษัทเจนเนอรัลมอเตอร์(General Mortor) ยูเอสสตีล(U.S.Steel) และเจนเนอรัลอีเล็คทริค(General Electric)เคยเป็นบริษัทใหญ่ที่มีความแข็งแกร่งมากในระดับโลก มาถึงปัจจุบันการผลิตรถยนต์ เหล็กกล้าและเครื่องไฟฟ้าของอเมริกา ล้วนมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงมาก บริษัทอุตสาหกรรมอื่นๆของอเมริกาโดยส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถแข่งขันกับเขาได้ สินค้าอุตสาหกรรมทั่วไปในอเมริกา ต้องอาศัยชิ้นส่วนวัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศสัดส่วนสูง แต่ต้นทุนที่สูงขึ้น บริษัทอุตสาหกรรมอเมริกาจำนวนมากได้ย้ายฐานผลิตไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อความอยู่รอด ในอเมริกาจึงมีภาคอุตสาหกรรมที่กลวงสู่ภายนอก(hollowing out) เขตอุตสาหกรรมในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ก่อนนี้เป็นเขตที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ปัจจุบัน ได้กลายมาเป็นแถบผุพัง หรือแถบสนิม(rust belt)ไปแล้ว อย่างไรก็ตามในอเมริกายังมีอุตสาหกรรมและขนาดใหญ่เหลืออยู่บ้าง เช่น บริษัทผลิตเครื่องบินและอาวุธยุทโธปกรณ์ ยังคงอยู่ได้ด้วยการซื้อและอุดหนุนของรัฐบาล ที่เที่ยวไปก่อสงครามทั่วทุกมุมโลก แต่โดยรวมแล้ว ภาคอุตสาหกรรมของอเมริกาได้สูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันไปมากแล้ว อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจภาคบริการของอเมริกายังมีความแข็งแกร่งอยู่ บริษัทสื่อสารคมนาคม ธุรกจการค้นหาข้อมูล และบริษัทการสื่อสารขนาดใหญ่ เช่น กูลเกิล(Google) เฟสบุค(Facebook) แอปเปิล(Apple) และอินเทล(Intel) ยังคงเป็นบริษัทที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงในตลาดโลก ภาคธุรกิจบันเทิงเช่นการสร้างภาพยนตร์ ยังมีส่วนแบ่งในตลาดโลกค่อนข้างสูง กิจการการเงินการธนาคาร ก็ยังมีจำนวนมาก แม้ก็ได้เสื่อมถอยลง สี่สาธารณูปโภคในอเมริกา ที่แต่ก่อนเคยมีความพร้อมมูลมากและมีคุณภาพสูง ก็เสื่อมถอยไปตามกาลเวลา รัฐบาลอเมริกา ทั้งในระดับประเทศและระดับรัฐในแต่ละท้องถิ่น ล้วนไม่สนใจและขาดงบประมาณในการบูรณะสิ่งสาธารณูปโภคที่สึกหรอไป เมื่อมีภัยธรรมชาติ หรือเกิดอุบัติเหตุ สิ่งสาธารณูปโภคและสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับความเสียหายส่วนใหญ่ ก็ไม่ได้สร้างขึ้นมาใหม่หรือมีการบูรณะซ่อมแซม ปัญหาสังคม ซึ่งก็เป็นปัญหาเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งในอเมริกาคือ ความเหลื่อมล้ำการกระจายรายได้และทรัพย์สินระหว่างประชาชน กล่าวกันว่า ชาวอเมริกันที่มีรายได้และทรัพย์สินสูงที่เป็นมหาเศรษฐีที่คิดเป็นสัดส่วนน้อยมากของประชาชนทั้งหมด ได้ครอบงำรายได้และทรัพย์สินส่วนใหญ่ของประเทศ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศมีรายได้ตำ่ คนจนมีอยู่มาก อเมริกาแม้เป็นประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยสูง แต่ก็มีคนจน มีคนว่างงานและคนไม่มีบ้านอยู่เป็นจำนวนมาก ในทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตกต่ำ รัฐบาลอเมริกาใช้วิธีการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจโดยการซื้อพันธบัตรและหลักทรัพย์อื่นในตลาดเงินจำนวนมาก มาตรการนี้เรียกกันว่า"การผ่อนคลายทางปริมาณ"หรือ"คิวอี"(QE: Quantitative Easing) เหตุที่รัฐบาลต้องใช้วิธีการพิเศษนี้ เนื่องจากนโยบายการเงินและการคลังทั่วไป ไม่สามารถกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นขึ้นมาได้ แม้อัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมลดลงมาตำ่มากแล้ว ก็ยังมีการบริโภคและการลงทุนในระดับต่ำ มาตรการคิวอี ไม่เพียงมีผลกระทบเศรษฐกิจอเมริกา ยังส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นด้วย เมื่อสินทรัพย์ในอเมริกามีราคาสูงขึ้น ดอกเบี้ยมีระดับต่ำ เงินทุนก็ไหลออกสู่ตลาดเงินตลาดทุนในต่างประเทศ การนำเข้าของเงินทุน ทำให้ค่าเงินของประเทศที่ได้รับเงินทุนนั้นแข็งค่าขึ้น และกระทบต่อการส่งออกของประเทศนั้น

ใส่ความเห็น