ความเจริญและความเสื่อมของเศรษฐกิจจีน:จากอดีตถึงปัจจุบัน

ความเจริญและความเสื่อมของเศรษฐกิจจีน: จากอดีตถึงปัจจุบัน(3)

ราชวงศ์สุย(隋)และราชวงศ์ถัง(唐)

ราชวงศ์สุย(ค.ศ.589-618)

หนังสมัยราชวงศ์ฮั่น สามก๊ก และราชวงศ์จิ้นตะวันตก แผ่นดินจีนต้องตกอยู่ในสภาพที่แตกแยกออกเป็นรัฐน้อยใหญ่อีก272ปี จนถึงราชวงศ์สุย ประเทศจีนจึงกลับมามีการปกครองเป็นปึกแผ่นอีกครั้งหนึ่ง

สุยเป็นราชวงศ์ที่มีอายุสั้น อยู่ได้เพียงประมาณ 30 ปี ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นราชวงศ์ถัง ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่ประเทศจีนมีความเจริญรุ่งเรือง และอยู่ได้นานถึงเกือบ 300 ปี

ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์สุยชื่อหยางเจียน(楊坚)เดิมเป็นขุนนางของรัฐเป่ยโจว(北周)ซึ่งเป็นรัฐที่อยู่ทางเหนือในยุคเหนือใต้(南北朝时期)ก่อนการสถาปนาปนาราชวงศ์สุย เขาเป็นอัครเสนาบดีที่กุมอำนาจทหารในรัฐเป่ยโจว เขาได้ปลดกษัตริย์ที่ยังมีอายุน้อยแล้วขึ้นครองราชย์แทน เปลี่ยนชื่อราชวงศ์เป็นสุย หลังจากนั้นอีกไปกี่ปี เราก็สามารถโค่นล้มรัฐทางใต้ ทำให้ประเทศจีนกลับมาเป็นปึกแผ่นอีกครั้งหนึ่ง

ในช่วงแรกของราชวงศ์สุย ประเทศชาติมีความเจริญรุ่งเรือง กษัตริย์สุยเหวินตี้(隋文帝)หยางเจียนได้ปรับปรุงระบบการปกครองประเทศในหลายด้าน เช่น ปรับปรุงระบบการเกณฑ์ทหารและการคัดเลือกคนเข้ารับราชการ บูรณะซ่อมแซมเมืองและถนนหนทาง จัดสรรที่ดินให้ประชาชนทำกิน ลดประเภทของกิจกรรมที่ต้องถูกเก็บภาษีและลดอัตราภาษีอากรลง

สุยเหวินตี้เป็นกษัตริย์ที่มีความมัธยัสถ์ ราชสำนักมีการใช้จ่ายอย่างประหยัด เขายังสนับสนุนให้ข้าราชการและประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายไม่ฟุ่มเฟือย มีการเก็บสะสมธัญญาหารในยุ้งฉางของรัฐไว้เพื่อให้ประชาชนบริโภคในยามขาดแคลน

แต่ในช่วงปลายชีวิต หยางเจียนมีการปกครองบ้านเมืองในลักษณะเผด็จการมากขึ้น และปลดราชโอรสองค์โตออกจากตำแหน่งมกุฎราชกุมารโดยแต่งตั้งโอรสคนรองซึ่งเสแสร้งว่าตนเองมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างสมถะขึ้นแทน

เมื่อสุยเหวินตี้สิ้นพระชนม์(เล่ากันว่าถูกปลงพระชนม์โดยลูกน้องของมกุฏราชกุมารหยางก่วง(楊广)ที่ขึ้นครองราชย์ต่อจากนั้นในนามสุยหยางตี้(隋焬帝)

เมื่อสุยหยางตี้ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์แล้ว ก็กลับกลายเป็นคนที่มีความฟุ่มเฟีอยสุดขีด และได้เผาผลาญทรัพย์สมบัติของแผ่นดินที่มีการสะสมไว้เป็นจำนวนมากในสมัยสุยเหวินตี้จนหมดสิ้น

สุยหยางตี้ ได้เกณฑ์คนจำนวนมากไปบูรณะกำแพงเมืองจีนและขุดคลองต้าวิ่นเหอ(大运河)ต่อจากส่วนที่มีการขุดเจาะไว้แล้วในสมัยสุยเหวินตี้ ทำให้มีคนต้องล้มตายไปเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น ยังมีการยกทัพไปโจมตีรัฐอื่นๆที่อยู่ทางตะวันตกและทางเหนือ ซึ่งแต่ละครั้งสิ้นเปลืองชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการยกทัพไปคาบสมุทรเกาหลีหลายครั้งที่ทำให้ทหารต้องบาดเจ็บล้มตายไปเป็นล้าน แต่ก็ประสบกับความล้มเหลวต้องถอยทัพกลับมา

การทำสงครามมีผลทำให้อาณาเขตของประเทศจีนมีการขยายตัวออกไปบ้าง แต่ก็ต้องสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินไปมาก การบูรณะกำแพงเมืองจีน การขุดคลอง การทำศึกสงคราม ตลอดจนการใช้จ่ายที่หรูหราฟุ่มเฟือยในราชสำนัก ทำให้ทรัพย์ที่มีการสะสมไว้ถูกผลาญจนหมดเกลี้ยง ในรัชกาลสุยหยางตี้จึงต้องขูดรีดภาษีจากประชาชนหนักขึ้นเรื่อยๆ

ตลาดรัชกาล สุยหยางตี้ได้ล่องเรือจากเมืองลั่วหยาง(洛阳) ซึ่งเป็นเมืองหลวงแห่งที่สองไปยังเมืองเจียงตู(江都)ซึ่งอยู่ทางใต้หลายครั้ง ในการเดินทางแต่ละครั้ง มีกองเรือขนาดใหญ่ มีข้าราชบริวารจำนวนมาก ในระหว่างทางที่กองเรือแล่นผ่าน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นต้องจัดเตรียมของกินของใช้จำนวนมากมาถวาย สุยหยางได้สร้างวังที่มีความใหญ่โตโอ่โถง ในวังมีพระสนมจำนวนมาก มีสิ่งของและอาหารเพียบพร้อม สุยหยางตี้ได้เสด็จไปประทับที่เมืองเจียงตูในแต่ละครั้งเป็นเวลานาน และต่อมาได้ถูกปลงพระชนม์ที่นั่นโดยขุนนางในราชวงศ์ของเขาเอง

ในตอนปลายรัชกาล ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นอดอยาก ในขณะที่ราชสำนักยังคงมีการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย จึงมีคนหลายกลุ่มที่ขึ้นก่อการกบฏ ในที่สุดราชวงศ์สุยก็ต้องถูกโค่นล้มลงโดยผู้ที่ได้รับชัยชนะในการสู้รบแย่งชิงอำนาจการปกครองประเทศชื่อหลี่เวียน(李淵) ซึ่งเดิมเป็นขุนนางในราชวงศ์สุย และสถาปนาราชวงศ์ถังขึ้น

แม้ราชวงศ์สุยอยู่ได้เพียงประมาณ 30 ปี แต่ก็ได้วางระบบการบริหารราชการแผ่นดินบางอย่างที่มีการใช้ในประเทศจีนเป็นเวลานับพันปี เช่น ระบบการปกครองประเทศที่แบ่งออกเป็นกระทรวงต่างๆ และระบบการ คัดเลือกคนเข้ารับราชการโดยการสอบ รวมทั้งการขุดคลองวิ่นเหอ ซึ่งเป็นคลองที่มีความยาวผ่านพื้นที่หลายมณฑล

ระบบการปกครองราชการแผ่นดินที่ราชวงศ์สุยได้ริเริ่มขึ้นนั้น เป็นระบบที่มีการแยกฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารออกจากกัน ซึ่งอาจเป็นระบบที่มีการแบ่งแยกอำนาจการปกครองอย่างชัดเจนที่เริ่มมีการนำมาใช้เป็นประเทศแรกของโลก ระบบนี้มีการใช้ต่อไปในราชวงศ์ต่างๆเป็นเวลากว่า 1000 ปีหลังจากนั้น แม้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในรายละเอียด และพระมหากษัตริย์ยังคงมีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนขุนนางข้าราชการตามพระราชอัธยาศัย

ระบบการบริหารราชการแผ่นดินที่ราชวงศ์สุยริเริ่มขึ้น คือระบบสามฝ่ายหกกระทรวง(三省六部制)สามฝ่ายประกอบด้วย ฝ่ายบัญญัติกฎหมาย(คำสั่งของพระมหากษัตริย์) ฝ่ายตรวจสอบ และฝ่ายบริหาร ภายใต้ฝ่ายบริหารแบ่งออกเป็นหกกระทรวงคือกระทรวงมหาดไทย(户部) กระทรวงข้าราชการ(吏部)กระทรวงวัฒนธรรมและพิธีกรรม(礼部)กระทรวงกลาโหม(兵部)กระทรวงทัณฑกรรม(郉部)และกระทรวงโยธาธิการ(工部)โดยแต่ละกระทรวงมีอำนาจหน้าที่ที่แตกต่างกัน กระทรวงมหาดไทยดูแลเรื่องการสำรวจจำนวนประชากร การทำมาหาเลี้ยงชีพของประชาชน และการจัดเก็บภาษี(คล้ายกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลังในปัจจุบัน) กระทรวงข้าราชการมีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการในระดับต่างๆทั่วประเทศ กระทรวงวัฒนธรรมและพิธีกรรม นอกจากควบคุมดูแลเรื่องต่างๆที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีแล้ว ยังรับผิดชอบเรื่องการสอบคัดเลือกข้าราชการด้วย กระทรวงกลาโหมมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องเกี่ยวกับยุทธการ การเกณฑ์ทหารและการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ กระทรวงทัณฑกรรมมีหน้าที่เหมือนกระทรวงยุติธรรมในปัจจุบัน มีอำนาจในการตัดสินคดีและลงโทษผู้ที่ทำผิดกฏหมาย กระทรวงโยธาธิการรับผิดชอบในเรื่องการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภค สร้างถนน ขุดคลอง และซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างต่างๆ จะเห็นได้ว่า ระบบการบริหารราชการแผ่นดินของประเทศจีนมีการแบ่งแยกหน้าที่อย่างชัดเจนตั้งแต่ราชวงศ์สุยเมื่อประมาณ 1400 ปีก่อนแล้ว

การคัดเลือกบุคลากรเข้ารับราชการ หรือที่เรียกกันในภาษาไทยว่าการสอบจอหงวน ก็เริ่มขึ้นในราชวงศ์สุย และมีการปรับปรุงให้มีความสมบูรณ์ในสมัยต่อมา อย่างไรก็ดี ในสมัยราชวงศ์หมิง(明) และชิง(清) ระบบการสอบคัดเลือกเพื่อให้ได้ผู้ที่มีความรู้มารับข้าราชการนี้ มีการเน้นการเขียนที่มีรูปแบบตายตัว ทำให้ผู้เข้าสอบต้องพากันท่องข้อความในหนังสือแล้วนำมาเรียบเรียงใหม่ตามรูปแบบโดยไม่อาจมีความคิดริเริ่มของตนเอง

ก่อนมีระบบการสอบคัดเลือกข้าราชการ ข้าราชการมาจากการแต่งตั้งโดยกษัตริย์หรือผู้มีอำนาจการปกครอง ในสมัยประชุมซัง(商)โจว(周)และสมัยเลียดก๊ก ซึ่งมีการแบ่งพื้นที่ให้ขุนนางข้าราชการที่มีความดีความชอบไปปกครอง อำนาจการปกครองในพื้นที่ต่างๆสามารถสืบทอดกันไปสู่ลูกหลาน และผู้ปกครองตามที่ต่างๆสามารถแต่งตั้งข้าราชการตามที่ตนเห็นชอบ ต่อมาในสมัยราชวงศ์ฮั่น(汉) ผู้บริหารในท้องถิ่นต่างๆจะคัดเลือกบุคคลที่เขาเห็นว่ามีความรู้ความสามารถและมีคุณธรรม ในท้องที่ของตนและเสนอให้กษัตริย์แต่งตั้งเป็นข้าราชการ แต่ทั้งระบบ การสืบทอดอำนาจจากบรรพบุรุษในระบบการคัดเลือกโดยผู้บริหารท้องถิ่น อาจไม่สามารถได้มาซึ่งบุคคลที่มีความเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้ง ;ผู้ที่เกิดในตระกูลขุนนางชั้นสูงสามารถสืบทอดอำนาจต่อไปได้ไม่ว่าจะมีความรู้ความสามารถหรือไม่ และการคัดเลือกโดยผู้ปกครองในท้องที่ต่างๆก็เอื้อประโยชน์ต่อการคัดเลือกบุคคลที่เป็นเครือญาตหรือพวกพ้องขึ้นเป็นข้าราชการ

ระบบการสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการ ทำให้คนที่ไม่มีเส้นสาย ไม่ได้อยู่ในตระกูลของผู้มีอำนาจที่มีความขยันหมั่นเพียรในการศึกษาหาความรู้ สามารถเข้ารับราชการได้ และอาจได้เลื่อนตำแหน่งเป็นขุนนางหรือข้าราชการชั้นสูงในเวลาต่อมา แต่ระบบนี้ก็มีข้อเสีย คือทำให้ผู้มีหัวสมองดีทั่วประเทศ มุ่งไปในการอ่านคัมภีร์สมัยโบราณ ท่องกลอน ฝึกฝนการเขียนตามแบบฉบับที่ทางการกำหนดไว้ โดยไม่สนใจศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และประกอบอาชีพอื่นๆ ส่งผลทำให้ประเทศจีนซึ่งแต่เดิมมีความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเหนือกว่าประเทศอื่น กลายเป็นประเทศที่มีความล้าหลังทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และเทคโนโลยี เมื่อมีการเปิดประเทศ จีนก็ต้องถูกประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศในโลกตะวันตกที่มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหนือกว่า มีแสนยานุภาพที่ก้าวหน้ากว่ารุกราน จนกลายเป็นประเทศที่มีสภาพคล้ายเมืองขึ้น

การขุดคลองต้าวิ่นเหอเชื่อมต่อเมืองปักกิ่งและเมืองหางโจว ซึ่งมีความยาวเกือบ 2000 กิโลเมตร เริ่มสร้างในสมัยสุยเหวินตี้ และมีการขยายต่อในสมัยสุยหยางตี้ การขุดคลองวิ่นเหอนี้ ใช้เวลารวมกว่า 20 ปี โดยขุดคลองยาวที่เชื่อมต่อจากเส้นทางธรรมชาติของแม่น้ำลำคลอง ผ่านพื้นที่หลายมณฑล คลองนี้มีประโยชน์ต่อการคมนาคมทางน้ำมาก ทำให้สินค้าต่างๆสามารถลำเลียงขนส่งระหว่างภาคเหนือและภาคใต้ของประเทศได้สะดวกขึ้น และมีผลต่อการส่งเสริมความเจริญทางการค้า โดยมีเมืองใหญ่เกิดขึ้นหลายแห่งในระหว่างทาง อย่างไรก็ตามในสมัยสุยหยางตี้ วิ่นเหอก็ได้เปลี่ยนสภาพมาเป็นคลองที่กษัตริย์ล่องเรือเพื่อความสุขสำราญ และทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณไปเป็นจำนวนมาก

ราชวงศ์ถัง(ค.ศ.618-707)

สมัยราชวงศ์ถังเป็นสมัยที่ประเทศจีนมีความเจริญรุ่งเรืองมาก ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การปกครอง การต่างประเทศ วรรณคดี ศิลปะวัฒนธรรมและอื่นๆ ความเจริญรุ่งเรืองและวิธีการปกครองประเทศของราชวงศ์ถังมีการกล่าวขวัญกันมากในประวัติศาสตร์จีน แต่ความเสื่อมของราชวงศ์ถังในช่วงหลังก็เป็นบทเรียนต่อผู้ปกครองประเทศในสมัยต่อมา เป็นที่น่าเสียดายว่า กษัตริย์ในราชวงศ์ต่างๆจำนวนมากมักไม่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ความเสื่อมของราชวงศ์ถัง และมักมีความผิดพลาดในการบริหารประเทศในลักษณะที่คล้ายคลึงกันกับกษัตริย์ในช่วงหลังของราชวงศ์ถัง เช่น พระมหากษัตริย์และราชสำนักมีความเป็นอยู่ที่หรูหราฟุ่มเฟือย ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้น มีขุนนางข้าราชการชั้นสูงที่มีความคดโกง ฉ้อฉล ปล่อยให้ญาติพี่น้องของกษัตริย์หรือขันทีที่อยู่ใกล้ชิดกับกษัตริย์กุมอำนาจฯลฯ

ในช่วงแรกของราชวงศ์ถังเป็นช่วงเวลาที่ประเทศจีนมีความเจริญรุ่งเรืองสุดขีด โดยเฉพาะในยุคเจินกวน(贞观)ถึงไคเหวียน(开元) (ชื่อของรัชกาลในสมัยนั้น)ซึ่งกินเวลาทั้งหมดประมาณ 100 ปี ในช่วงนี้แม้มีอยู่ช่วงเวลาหนึ่งที่มีการต่อสู้แย่งชิงอำนาจของคนในราชสำนัก และมีอยู่ช่วงหนึ่งที่กษัตริย์หญิงอู่เจ๋อเทียน(武则天หรือบูเช๊กเทียน)ปกครองประเทศและเปลี่ยนชื่อราชวงศ์เป็นโจว(周)ที่สภาพการเมืองและสังคมมีความยุ่งเหยิง แต่โดยทั่วไปเศรษฐกิจจีนก็ไม่ได้รับความเสียหายมากนัก ประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รับความเดือดร้อน

บูเช็คเทียนเป็นกษัตริย์หญิงองค์เดียวในประวัติศาสตร์จีน แม้มีความทารุณโหดร้าย ฆ่าขุนนางข้าราชการที่เป็นปรปักษ์ ใช้ตำรวจลับสอดแนมและลงโทษผู้ที่ไม่เป็นมิตรกับตน และมีพระสนมชาย แต่การปกครองของเขา ก็ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจจีนต้องได้รับความเสียหายในวงกว้าง

พระมหากษัตริย์ที่มีการกล่าวขวัญกันมากคนหนึ่งบในประวัติศาสตร์จีน ก็คือถังไท่จง(唐太宗)ในสมัยเจินกวน ในช่วงนี้ ราชวงศ์ถังมีอาณาเขตที่กว้างใหญ่ไพศาล สภาพเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก ประชาชนส่วนใหญ่มีความเป็นอยู่ที่ดี ราชวงศ์ถังในสมัยนั้นถือได้ว่าเป็นประเทศชั้นนำของโลก มีการติดต่อค้าขายกับประเทศต่างๆหลายประเทศ

สินค้าจากประเทศจีนมีการส่งไปจำหน่ายในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกัน จีนก็มีการนำสินค้าเข้าจากต่างประเทศโดยผ่านพ่อค้าคนกลางที่เป็นคนจีนและที่เป็นชาวต่างชาติ

กษัตริย์ถังไท่จงหลี่ซื่อหมิน(李世民) ได้ขึ้นครองราชย์หลังจากเอาชนะการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกับพี่ของเขาที่เดิมเป็นมกุฏราชกุมาร ในเหตุการณ์การต่อสู้นี้ เขาได้ฆ่าพี่ชายและน้องชายที่อยู่ในฝ่ายเดียวกันกับมกุฏราชกุมาร ในที่สุดพระราชบิดาแต่งตั้งให้เขาก็ได้แต่งตั้งให้หลี่ซื่อหมินเป็นมกุฏราชกุมาร ต่อมาอีกไม่นาน ก็ได้สละราชบัลลังก์ให้เขาขึ้นเป็นกษัตริย์

หลังจากที่ขึ้นครองราชย์แล้ว หลี่ซื่อหมินได้กลายเป็นกษัตริย์ที่ดีมากคนหนึ่ง เขาตระหนักถึงบทเรียนความล้มเหลวของราชวงศ์สุย และคอยตักเตือนตนเองว่า ควรละเว้นจากการมีชีวิตที่ฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย และต้องทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี สังคมมีความสงบสุข ต้องใช้ขุนนางข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถและมีความซื่อสัตย์สุจริต สิ่งที่ได้รับการปรับขวัญกันมากของถังไท่จง คือการยอมรับ ฟังคำตักเตือนและติติงจากผู้ใต้บังคับบัญชา ขุนนางที่มีโดดเด่นในสมัยเจินกวนคืออัครเสนาบดีชื่อเว่ยเจิง(魏征) ที่คอยตักเตือนกษัตริย์ ในบางครั้งถึงกับพูดจาดุดัน แต่ถังไท่จงก็ยอมรับฟังโดยไม่รู้สึกขัดเคือง

ราชวงศ์ถังได้ปรับปรุงระบบแบ่งแยกอำนาจการปกครองแผ่นดินที่เป็นฝ่ายและกระทรวง และระบบการสอบคัดเลือกข้าราชการที่ริเริ่มในราชวงศ์สุยให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น มีนโยบายการเก็บภาษีในอัตราต่ำ ส่งเสริมการผลิตทางด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม ส่งเสริมให้มีการค้าเสรีโดยเก็บภาษีการค้าทั้งจากชาวจีนและชาวต่างชาติในอัตราที่ต่ำมาก และลดขอบเขตการผูกขาดของรัฐในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ลดการใช้จ่ายทางด้านการทหาร แต่เร่งลงทุนส่งเสริมการสร้างสิ่งสาธารณูปโภคและการคมนาคมขนส่ง

ในช่วงต้นของราชวงศ์ถัง มีการลดจำนวนขุนนางข้าราชการและจำนวนทหารลงมาก นโยบายของกษัตริย์หลี่ซื่อหมินคืออนุญาตให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้มีฐานะดีมีส่วนร่วมในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ท้องถิ่นที่เขาอาศัยอยู่ นอกจากนั้น ยังอนุญาตให้ผู้ปกครองในท้องถิ่นต่างๆมีส่วนในการใช้เงินภาษีอากรที่เก็บได้จากท้องที่ของตน มีอำนาจในการเกณฑ์ทหาร แต่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูทหาร นโยบายนี้ทำให้รัฐบาลกลางสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายทางด้านกลาโหมได้มาก แต่ก็ส่งผลทำให้ผู้ปกครองในแคว้นต่างๆ มีกำลังทหารของตนเอง และขึ้นก่อการกบฏในช่วงที่รัฐบาลกลางมีความอ่อนแอในเวลาต่อมา

ทางด้านเศรษฐกิจ มีการส่งเสริมการทำมาหาเลี้ยงชีพของประชาชนทั้งทางด้านการเกษตร อุตสาหกรรมและการค้าบริการ ทำให้เศรษฐกิจในช่วงต้นของราชวงศ์ถังมีความเจริญรุ่งเรืองมาก การใช้จ่ายที่ประหยัดของราชสำนัก การมีจำนวนข้าราชการและทหารที่ลดลงไปมาก ล้วนมีส่วนทำให้ฐานะการคลังของรัฐมีความมั่นคง แม้ต้องใช้จ่ายทางด้านการสร้างสิ่สาธารณูปโภค

เศรษฐกิจการค้าที่มีความเจริญรุ่งเรืองทำให้มีประชากรเพิ่มขึ้น มีเมืองใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการค้าเกิดขึ้นหลายแห่ง โดยเฉพาะเมืองหลวงฉางอัน(長安) ได้กลายเป็นเมืองศูนย์กลางในการติดต่อค้าขาย กล่าวกันว่า เมืองฉางอันมีพลเมืองอยู่กว่าล้านคน และเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในโลกในสมัยนั้น

หลังจากที่ถังไท่จงสิ้นพระชนม์ กษัตริย์ผู้สืบบัลลังก์คือถังเกาจง(唐高宗)ซึ่งครองราชย์เป็นเวลานานกว่า 40 ปี แต่เนื่องจากกษัตริย์มีสุขภาพไม่ดี จึงให้บูเช็คเทียนผู้เป็นพระมเหสีร่วมนั่งบัลลังก์เคียงคู่กับกษัตริย์ในการพบกับขุนนางข้าราชการ ทำให้อำนาจการปกครองที่แท้จริงตกอยู่ในมือของบูเช็คเทียนเป็นเวลาหลายปี

หลังจากที่ังเกาจงเสียชีวิต ตามประเพณีควรให้มกุฏราชกุมารขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่บูเช็คเทียนก็ได้รวบอำนาจการปกครองประเทศไว้แม้ไม่เป็นกษัตริย์ และต่อมา เมื่อขจัดขุนนางข้าราชการที่เป็นปรปักษ์กับตนเองจนหมดสิ้นแล้ว บูเช็คเทียนก็ขึ้นเป็นกษัตริย์เอง โดยเปลี่ยนชื่อราชวงศ์เป็นโจว(周)

บูเช็คเทียนเป็นกษัตริย์ได้กว่า 20 ปี ก็ถูกขุนนางชั้นผู้ใหญ่ทำรัฐประหาร และราชบัลลังก์ของราชวงศ์ถังก็กลับมาเป็นคนตระกูลหลี่ตามเดิม

หลังซึ่งบูเช็คเทียน การปกครองของประเทศมีความยุ่งเหยิงอยู่กว่า 10 ปีจากการแย่งชิงอำนาจของฝ่ายต่างๆในราชสกุล ในที่สุด ถังเสวียนจง(唐玄宗)หลี่หลงจี สามารถปราบปรามฝ่ายต่างๆและขึ้นครองราชย์ได้

ถังเสวียนจงเป็นกษัตริย์นานกว่า 40 ปี ช่วงแรกของรัชกาลนี้ซึ่งใช้ชื่อรัชกาลไคเหวียน(开元) เศรษฐกิจมีความเจริญรุ่งเรืองมาก หลังขึ้นครองราชย์ ถังเสวียนจงได้ทำการปรับปรุงการบริหารประเทศในด้านต่างๆ ใช้ขุนนางข้าราชการที่สุจริตและมีความรู้ความสามารถ ปลดข้าราชการที่ทุจริต ลดอำนาจและสิทธิประโยชน์ของราชนิกุล ราชสำนักก็มีการใช้จ่ายอย่างประหยัด

ในสมัยนั้น มีประชาชนนับถือพุทธศาสนาจำนวนมาก ในแต่ละปี วัดได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลจำนวนมาก ประชาชนทั่วไปก็ยินดีบริจาคเงินให้วัด พระสงฆ์ได้รับสิทธิพิเศษหลายอย่าง ไม่ต้องทำงาน ไม่ต้องเสียภาษี แต่มีความเป็นอยู่ที่ดี จึงมีคนจำนวนมากที่ปลอมตัวเป็นพระสงฆ์เพื่อเลี่ยงภาษี อัครเสนาบดีในสมัยนั้นจึงได้ทำการตรวจสอบและจับพระปลอมได้เป็นเรือนหมื่น และลดเงินอุดหนุนของรัฐที่ให้วัด

ในด้านเศรษฐกิจ มีการส่งเสริมการทำมาหาเลี้ยงชีพของประชาชนในภาคเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะการเกษตรและการค้า ปราบปรามการกว้านซื้อที่ดินและจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ประชาชนผู้ยากไร้ ปรับปรุงระบบชลประทาน และการคมนาคมขนส่ง เมื่อการเกษตรและการค้าเจริญเติบโต รัฐก็เก็บภาษีได้มาก ทั้งที่มีอัตราภาษีในระดับต่ำ

ในราชวงศ์ถัง วิทยาการต่างๆมีความเจริญก้าวหน้ามาก การแพทย์ การพิมพ์ การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ล้วนมีความเจริญก้าวหน้า ในสมัยนี้ มีจินตกวีที่มีชื่อเสียงและมีกวีนิพนธ์ที่โดดเด่นจำนวนมาก บทกลอนในราชวงศ์ถังนี้ ได้รับความนิยมมากและยังมีการท่องจำกันอยู่จนถึงปัจจุบัน

สิ่งที่น่าสนใจของถังเสวียนจง คือในช่วงหลังของรัชกาลนี้ สภาพเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองได้เสื่อมถอยลงไปมาก จนนำไปสู่ความวุ่นวายที่สร้างความเสียหายแก่ราชวงศ์ถัง และเปลี่ยนสภาพจากการมีความเจริญสุดขีดเป็นความเสื่อมถอยที่เกินกว่าจะแก้ไขเยียวยาได้ รัชกาลถังเสวียนจงนี้ จึงเป็นจุดหักเหที่สำคัญที่ราชวงศ์ถัง

ต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงจากความเจริญสู่ความเสื่อมเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของกษัตริย์ ถังเสวียนจงเปลี่ยนจากผู้ที่มีความประหยัดมัธยัสถ์ไปเป็นคนฟุ่มเฟือย จากการใช้ขุนนางโดยเฉพาะอัครเสนาบดี ที่ซื่อสัตย์สุจริตและมีความรู้ความสามารถมาเป็นคนที่ทุจริต แต่รู้จักเอาใจกษัตริย์ ที่กล่าวขวัญกันมากก็คือการหลงรักหยางกุ้ยฟุย(杨贵妃)ซึ่งเป็นสาวงามที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์จีน คนจีนในสมัยต่อมามักโทษหยางกุ้ยฟุย ว่าเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ราชวงศ์ถังเปลี่ยนจากความเจริญสู่ความเสื่อม แต่แท้ที่จริง หยางกุ้ยฟุย ไม่ได้เป็นคนชั่ว เขาเองก็ไม่ได้ทำความเสียหายแก่ราชวงศ์ กษัตริย์เองนั่นแหละที่ได้เปลี่ยนไปมาก แม้การให้ญาติพี่น้องของหยางกุ้ยฟุยเข้ารับราชการ โดยเฉพาะการใช้หยางกั๋วจง(杨国忠)ซึ่งเป็นคนที่มีนิสัยต่ำช้าเลวทรามเป็นอัครเสนาบดีในช่วงปลายรัชกาล ก็มีผลขอให้ความเสื่อมเสียต่อราชวงศ์ถังมาก การก่อการกบฏของอันลู่ซ้น(安禄山) ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการยุยงใส่ร้ายของยังกั๋วจงต่อกษัตริย์ถังเสวียนจง

เหตุการณ์การกบฏของอันลู่ซันและพวก ซึ่งมีเวลากว่า 10 ปี มีผลทำให้ราชวงศ์ถังเกิดความเสียหายมาก ทหารและประชาชนต้องบาดเจ็บล้มตายไปจำนวนมาก ประชาชนไม่สามารถทำมาหากินเป็นปกติ เศรษฐกิจถูกกระทบอย่างรุนแรง เหตุการณ์ครั้งนี้ยังทำให้กษัตริย์ถังเสวียนจงต้องระหกระเหินหนีออกจากเมืองหลวง ในระหว่างทาง เขาจำใจต้องสั่งประหารชีวิตทั้งหยางกั๋วจงและหยางกุ้ยฟุย เพราะมิฉะนั้นแล้ว บรรดาเหล่าทหารก็ไม่ยอมอารักขากษัตริย์และไม่ยอมเคลื่อนพลต่อไป

อันลู่ซันเป็นผู้ปกครองแคว้นหลายแห่งในเขตชายแดน มีพื้นที่กว้างใหญ่ มีกำลังทหารมาก เขาพยายามประจบสอพลอกษัตริย์ และแสดงว่าตนมีความจงรักภักดีต่อกษัตริย์มาก แต่เขาก็ดูถูกหยางกั๋วจง ว่าเป็นคนไม่มีความรู้ความสามารถ แต่กลับมีตำแหน่งใหญ่โต หยางกั๋วจงจึงใส่ร้ายว่าอันลู่ซันจะก่อการกบฏ ในที่สุด อันลู่ซันต้องก่อการกบฏขึ้นจริง เพราะกลัวว่าตัวเองว่าต้องถูกปลดออกจากตำแหน่ง และเห็นว่ากำลังทหารของตนมีความเข้มแข็งมากกว่ากำลังของส่วนกลางมาก

หลังจากกบฏอันลู่ซันแล้ว ราชวงศ์ถังมีสภาพเศรษฐกิจการเมืองที่อ่อนแอลงไปมาก กษัตริย์ที่ขึ้นครองราชย์ ต่อจากถังเสวียนจง ส่วนมากไม่สนใจในเรื่องการปกครองประเทศ สนใจแต่เสวยความสุขด้วยความฟุ่มเฟือย มีการขูดรีดภาษีจากประชาชนมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำของสังคมทวีความรุนแรงขึ้น ชาวไร่ชาวนาส่วนใหญ่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น ส่วนขุนนางข้าราชการก็มีการทุจริตคอรัปชั่นกันมาก ทั้งยังมีการแบ่งพรรคแบ่งพวกกัน เหล่าขันทีที่อยู่ใกล้ชิดกับกษัตริย์ก็ถือโอกาสกลับมามีอำนาจ แม้มีอยู่ตอนหนึ่งที่มีกษัตริย์ที่พยายามปรับปรุงสภาพเศรษฐกิจการเมืองของประเทศ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก ในช่วงปลายของราชวงศ์ ผู้ปกครองแคว้นต่างๆจำนวนหนึ่งแสดงท่าทีแข็งข้อต่อรัฐบาลกลาง

อย่างไรก็ตาม หลังกบฎอันลู่ซัน ราชวงศ์ถังก็ยังอยู่ต่อไปได้อีกประมาณ 150 ปี แต่ในช่วงปลายราชวงศ์ ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นมาก มีผู้อดอยากล้มตายไปเป็นจำนวนมาก จึงมีกลุ่มคนที่ลุกฮือขึ้นก่อการกบฏ หลายกลุ่ม แต่ส่วนใหญ่ก็ถูกปราบปรามโดยกองกำลังของรัฐ ในที่สุด นายทหารคนหนึ่งซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นหัวหน้ากบฏ ต่อมาได้หันมาสวามิภักดิ์กับรัฐบาลและสามารถมีตำแหน่งสูงคุมกำลังทหารบีบบังคับกษัตริย์ ที่ยังมีอายุน้อยที่ครองราชย์อยู่สละราชบัลลังก์ให้ตนเอง และราชวงศ์ถังซึ่งดำรงอยู่ได้เป็นเวลา 289 ปีก็ต้องสิ้นสุดลง

ใส่ความเห็น