บทบาทและหน้าที่ในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล(3)

จะเห็นได้ว่า บทบาทและหน้าที่ของรัฐบาลในทางเศรษฐกิจมีอยู่มากและมีกิจกรรมที่หลากหลาย เครื่องมือทางนโยบายที่รัฐบาลใช้ในการบริหารเศรษฐกิจ คือการบริหารงบประมาณด้านรายรับและรายจ่าย การควบคุมปริมาณเงินและอัตราดอกเบี้ย การลงทุน การวางแผน การกำหนดกฎระเบียบ การส่งเสริม การควบคุม การเสริมสร้างสวัสดิการ และการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน  เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจในเรื่องต่างๆ ในการปฏิบัติงาน รัฐบาลย่อมต้องมีการเลือกทำอะไรบางอย่าง และงดเว้นการกระทำบางอย่าง จากงบประมาณและกำลังคนหรือทรัพยากรที่รัฐบาลครอบครองอยู่ที่มีอยู่อย่างจำกัด รัฐบาลจะต้องกำหนดสิ่งที่ต้องทำโดยมีการจัดลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนก่อนหลังที่ชัดเจน และต้องคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

นโยบายและมาตรการแต่ละอย่างของรัฐบาล ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนและกิจการในประเทศในภาคส่วนต่างๆ ทั้งในด้านบวกและด้านลบ และอาจมีความขัดแย้งกันในผลที่จะเกิดขึ้น ในประเทศกำลังพัฒนา รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอาจคำนึงถึงคะแนนเสียงการสนับสนุนของประชาชน และอาจเน้นนโยบายทางเศรษฐกิจที่จะเรียกคะแนนจากประชาชนในระยะสั้นได้ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบทางด้านลบที่มีต่อประเทศชาติในระยะยาว และมักจะไม่ดำเนินนโยบายและมาตรการที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการเพิ่มสมรรถภาพของประเทศในระยะยาว หรือดำเนินนโยบายและมาตรการบางอย่างที่เห็นผลในระยะสั้นได้ แต่มีผลสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติในระยะยาว

ในทางเศรษฐศาสตร์ มีการกล่าวถึง”ความล้มเหลวของรัฐบาล”(government failure) ซึ่งเกิดจากการแสวงหาผลประโยชน์ของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ การไม่มีความรู้ความเข้าใจ และการขาดข่าวสารข้อมูลที่จำเป็นในการบริหารราชการ การทุจริตคอร์รัปชั่น การปกป้องคุ้มครองภาคเศรษฐกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือทำกิจกรรมที่จะสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจและสังคม เช่น การสร้างสิ่งสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ที่สิ้นเปลืองงบประมาณมาก แต่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากนัก การกำหนดอัตราภาษีที่ไม่เป็นธรรม การกำหนดนโยบายช่วยเหลือและอุดหนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคเอกชนและที่ไม่มีประสิทธิภาพและที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การเร่งรัดการลงทุนและการผลิตโดยไม่คำนึงถึงข้อจำกัดของทรัพยากรและขีดความสามารถของประเทศ การกำหนดราคาสินค้าบริการและทรัพยากรที่ไม่สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริง ฯลฯ

ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงบทบาทของรัฐบาลในทางเศรษฐกิจ เราจะต้องคำนึงถึงหลักการทางเศรษฐศาสตร์ในเรื่อง”อะไร อย่างไรและเพื่อใคร” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ใช้ระบบเศรษฐกิจตลาด รัฐบาลควรจำกัดบทบาทและหน้าที่ของตนเอง โดยไม่ทำในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ประชาชนและภาคเอกชนสามารถทำได้ดีอยู่แล้ว

ใส่ความเห็น