ภาคบริการในเศรษฐกิจไทย

ความสำคัญของภาคบริการในประเทศไทย
1.อะไรคือภาคบริการ
          ตามการจัดประเภทขององค์การสหประชาชาติ กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆอาจแบ่งออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ๆ คือการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ หรือการจัดประเภทนี้จะอีกวิธีหนึ่งที่มีการใช้กันอย่างกว้างขวาง คือกิจกรรมเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมขั้นปฐม ซึ่งมีภาคเกษตรกรและเหมืองแร่เป็นสำคัญ อุตสาหกรรมขั้นที่สองซึ่งมีภาคการผลิตเป็นสำคัญ และภาคที่สามเป็นภาคบริการที่ไม่มีการผลิตสินค้าใดๆที่เป็นตัวตน แต่เป็นกิจกรรมที่ตอบสนองตามความต้องการของประชาชนในด้านต่างๆได้ อย่างไรก็ดี ในบางประเทศ และในตำราเศรษฐศาสตร์บางเล่ม ถือว่ากิจกรรมเหมืองแร่ จัดอยู่ในประเภทอุตสาหกรรม(industry)รวมกับภาคอุตสาหกรรมการผลิต(manufacturing sector)ซึ่งหมายถึงการผลิตหรือการแปรรูปสินค้า คือ มีการแปรรูป ประกอบชิ้นส่วน หรือการดัดแปลงปรุงแต่ง โดยมีการเพิ่มมูลค่าจากวัตถุดิบหรือส่วนประกอบของสินค้าใดลักษณะหนึ่ง ซึ่งต่างกับกิจกรรมด้านการบริการ เช่นการบริการทางการค้าและการเงิน ซึ่งไม่มีการผลิตสินค้า
ตามคำนิยามนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จัดอยู่ในภาคบริการที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งไฟฟ้า การประปา การค้าปลีก การค้าส่ง ร้านอาหาร โรงแรม การคมนาคมขนส่ง การเงิน การประกันภัย การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ การซื้อชายในตลาดหลักทรัพย์ การบันเทิง การติดต่อสื่อสาร การศึกษา สาธารณสุข การบริการบุคคล และการให้บริการในลักษณะต่างๆ ทั้งการบรรจุหีบห่อ คลังสินค้า การทำงานบ้าน การทำความสะอาดอาคารบ้านเรือน การเก็บกวาดและการซ่อมแซม ล้วนถือกันว่าเป็นกิจกรรมในภาคบริการ ในยุคปัจจุบัน เทคโนโลยีเกี่ยวข้องกับข่าวสารข้อมูล การติดต่อสื่อสารคมนาคมมีความก้าวหน้ามาก ภาคบริการจึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจมากในทุกประเทศ แม้แต่ประเทศที่มีพึ่งกิจกรรมในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมในระดับสูงในการพัฒนาเศรษฐกิจ กิจกรรมบริการก็มีความสำคัญ เพราะเพราะ สินค้าอุตสาหกรรมและเกษตรล้วนต้องอาศัยภาคบริการในการขนส่ง การบรรจุหีบห่อและการเก็บรักษา 
          โดยทั่วไป เศรษฐศาสตร์มักเรียกกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีการแลกเปลี่ยนซื้อขายในตลาดว่า “สินค้าหรือบริการ” โดย “สินค้า”นั้นมีคุณลักษณะที่เห็นได้หรือจับต้องได้(tangible) เน่าเสียได้ และเคลื่อนย้ายได้ ส่วน “บริการ” นั้นมักเป็นสิ่งทีไม่มีตัวตน หรือไม่สามารถมองเห็นได้(intangible)และมักเป็นสิ่งที่การผลิตกับการบริโภคเกิดขึ้นพร้อมๆกันและไม่สามารถเก็บรักษาได้นาน เช่น บริการตัดผม และการชมภาพยนตร์ นอกจากนี้กิจกรรมทางด้านบริการถือว่าเป็นกิจกรรมที่ไม่มีการซื้อขายกันระหว่างประเทศ(non-traded activities) แต่ในยุคปัจจุบัน จากเทคโนโลยีและจากการสื่อสารคมนาคมที่ก้าวหน้ามากขึ้น กิจกรรมบริการจำนวนมากสามารถซื้อขายหรือโอนย้ายระหว่างประเทศได้ เช่น การโอนเงินระหว่างประเทศ การให้บริการทางด้านข้าวสารข้อมูล การให้คำปรึกษา การท่องเที่ยว และกิจกรรมในด้าน การศึกษา พยาบาล และการฝึกอบรม ล้วนเป็นกิจกรรมที่ทำข้ามพรมแดนได้ ข่าวสารข้อมูล และผลิตผลที่เกี่ยวกับการบันเทิงที่ผลิตออกมาแล้ว ก็สามารถเก็บรักษาไว้ใช้งานในเวลาต่อไปได้
         กิจกรรมบริการในประเทศต่างๆจะทวีความสำคัญมากขึ้น เมื่อประเทศมีการพัฒนาสู่ระดับที่สูงขึ้น ในระยะเริ่มต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจ ประเทศส่วนใหญ่ในโลกมักมีกิจกรรมการเกษตรในสัดส่วนสูง ต่อมากิจกรรมที่มาจากภาคอุตสาหกรรมจะมีความสำคัญมากขึ้น และเมื่อมีการพัฒนาจนเป็นประเทศที่มีรายได้สูงแล้ว สัดส่วนของภาคอุตสาหกรรมในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP)ก็จะเริ่มลดน้อยลง และกิจกรรมในภาคการบริการมีความสำคัญมากขึ้น ในประเทศไทยก็มีลักษณะการพัฒนาสอดคล้องกับรูปแบบนี้ แต่ในช่วงเวลากว่า 4-5 ทศวรรษที่ผ่านมา แม้อุตสาหกรรมมีความสำคัญมากขึ้น และภาคการเกษตรมีสัดส่วนลดลงทั้งในผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศและการส่งออก แต่ภาคบริการก็มีสัดส่วนที่สำคัญ ทั้งในผลิตภัณฑ์มวลรวมและการจ้างงาน โดยประมาณกึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเป็นกิจกรรมที่เกิดจากภาคบริการ และสัดส่วนการจ้างงานในภาคบริการก็มีมากกว่าภาคอุตสาหกรรมมาโดยตลอด
2.ลักษณะสำคัญของภาคบริการในประเทศไทย
          ภาคบริการมีลักษณะแตกต่างกับภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมที่ไม่มีการผลิตสินค้าอะไรออกมาเป็นตัวตน แต่ก็สามารถสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจได้มาก ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบหลายประการที่เอื้อต่อการพัฒนาธุรกิจบริการ ลักษณะที่สำคัญของภาคบริกราไทยสรุปได้ดังนี้
ก. ในเวลาที่ผ่านมา ภาคการบริการของไทยมีการเจริญเติบโตและมีการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของกิจกรรมอย่างรวดเร็ว โดยมีกิจกรรมที่มีความหลากหลายมากขึ้นค่ะ
ข. ภาคบริการเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีการใช้แรงงานอย่างเข้มข้น(labor-intensive) และสามารถสร้างรายได้ในเงินตราต่างประเทศได้มาก
ค. กิจกรรมภาคบริการมีการเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจอื่นๆในระดับสูง การผลิตในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมในปัจจุบันล้วนเกี่ยวโยงกับกิจกรรมการบริการอย่างใกล้ชิด เช่น การบรรจุหีบห่อ การขนส่ง การเงิน การผลิต และการค้าล้วนเป็นกิจกรรมบริการที่สร้างคุณค่าให้แก่สินค้าอุตสาหกรรมและเกษตรได้มาก
ง. การส่งเสริมกิจกรรมภาคบริการ ไม่จำเป็นต้องใช้เงินทุกมากนัก โดยทั่วไป การส่งเสริมกิจกรรมในภาคบริการมักเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการส่งเสริมกิจกรรมในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม
จ. ประเทศไทยมีลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการพัฒนากิจกรรมในภาคบริการ บริการการท่องเที่ยวของไทยในแต่ละปีสามารถสร้างรายได้เงินตราต่างประเทศได้มาก บริการทางด้านอื่นๆ เช่น การรักษาพยาบาล และการบันเทิง ก็เป็นกิจกรรมที่มีขีดความสามารถสูงเมื่อเทียบกับกับประเทศพัฒนาอื่นๆหลายประเทศ
ฉ. กิจกรรมในภาคการบริการที่สำคัญในประเทศไทยคือการค้า การเงินและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการคมนาคมขนส่ง ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีกิจกรรมบริการต่างๆเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก การเจริญเติบโตของกิจกรรมในภาคบริการ เป็นผลที่เกิดจากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย การเปลี่ยนแปลงในวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชน การขยายของชุมชนเมือง การขยายตัวของการติดต่อสื่อสาร การค้าระหว่างประเทศ และการพัฒนาเทคโนโลยี
ช. เช่นเดียวกับภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ในภาคบริการ ก็มีการใช้แรงงานต่างด้าวในปริมาณเพิ่มขึ้น ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีแรงงานต่างชาติที่อพยพเข้ามาทำงานในภาคบริการจำนวนมาก เช่น เป็นพนักงานในร้านอาหาร และผู้ช่วยทำงาน
ซ. ธุรกิจภาคเอกชนมีความสำคัญในการพัฒนากิจกรรมบริการ สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล สถาบันการเงิน การสื่อสารคมนาคม การท่องเที่ยว การขนส่งสินค้า และกิจกรรมบริการอื่นๆอีกจำนวนมาก ล้วนมีธุรกิจเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ ในภาคบริการของไทย นอกจากธุรกิจขนาดใหญ่แล้ว ก็ยังมีธุรกิจขนาดย่อม และกิจการส่วนบุคคลที่มีผู้ประกอบการเพียงคนเดียวอยู่เป็นจำนวนมาก อาจกล่าวได้ว่า กิจกรรมการบริการขนาดเล็กที่มีอยู่จำนวนมากและกระจายอยู่ทั่วทุกที่ของประเทศ มีส่วนสำคัญมากต่อการเจริญเติบโตของภาคบริการในประเทศไทย
3.นโยบายและมาตรการการส่งเสริมธุรกิจบริการ
     ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ในช่วงที่ภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมประสบกับปัญหาการชะลอตัวในการเจริญเติบโต และมีการส่งออกที่ลดลง รัฐบาลจะให้ความสำคัญในการส่งเสริมกิจกรรมในภาคบริการมากขึ้น เช่น ในระหว่างปี 2015 ถึงปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวต่ำ และมีการส่งออกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่การท่องเที่ยวจากต่างประเทศยังมีการขยายตัว ทำรายได้เข้าประเทศได้มาก แม้ไม่สามารถส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมมีอัตราการเจริญเติบโตในระดับสูง แต่ก็สามารถชดเชยการชะลอตัวที่เกิดจากความซบเซาในภาคเศรษฐกิจภาคอื่นๆ ได้ในระดับหนึ่ง
กิจกรรมในภาคบริการมีความหลากหลายและมีลักษณะที่แตกต่างกัน อาจกล่าวได้ว่า หน่วยงานรัฐบาลที่สังกัดในกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ส่วนใหญ่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลและส่งเสริมธุรกิจในภาคบริการ ธุรกิจด้านการเงินโดยทั่วไปอยู่ในขอบข่ายการรับผิดชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่การประกอบการของสถาบันการเงินเฉพาะกิจหลายแห่ง และกิจกรรมทางการเงินบางอย่าง ก็อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงต่างๆ และไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของธนาคารแห่งประเทศไทยโดยตรง เรื่องเกี่ยวกับการคมนาคมขนส่ง กระทรวงคมนาคมเป็นผู้กำกับดูแล เรื่องการค้ากระทรวงพาณิชย์มีบทบาทหลักในการกำกับดูแล กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีส่วนสำคัญในการสร้างเสริมเทคโนโลยีสารสนเทศ และการควบคุมดูแลกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร กระทรวงแรงงานดูแลรับผิดชอบในเรื่องแรงงาน และสนับสนุนการพัฒนาแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงหลักในเรื่องการศึกษาและการส่งเสริมการพัฒนาบุคคลากรด้านต่างๆ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามีหน้าที่ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ฯลฯ การกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายต่างๆในการส่งเสริมการพัฒนาภาคบริการจึงต้องมีการจัดทำและดำเนินการเป็นเรื่องๆไปโดยมีหลายๆหน่วยงานประสานกัน ในที่นี้จะกล่าวถึงมาตรการบางอย่างที่มีความสำคัญในการส่งเสริมธุรกิจบริการของหน่วยงานต่างๆในภาครัฐโดยสังเขป เนื่องจากธุรกิจที่อยู่ในภาคการบริการในประเทศส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก จึงขอกล่าวเพียงบางหน่วยงานที่เน้นไปทางธุรกิจขนาดเล็กเท่านั้น
ในภาคการบริการ สาขาการค้าปลีกและค้าส่งเป็นสาขาที่มีสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมของประชาชาติ(GDP)สูงที่สุด กระทรวงพาณิชย์เป็นกระทรวงที่มีหน้าที่หลักเกี่ยวกับการส่งเสริมการค้าและมีหน่วยงานที่กำกับดูแลและส่งเสริมธุรกิจบริการ ในกระทรวงพาณิชย์ นอกจากกรมการค้าต่างประเทศ กรมการค้าภายใน กรมส่งเสริมการส่งออก กรมเจรจาการค้าและกรมการค้าต่างประเทศแล้ว ยังมีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าซึ่งมีพันธกิจในการส่งเสริมกิจการบริการในธุรกิจต่างๆ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีหน้าที่ในการจดทะเบียนธุรกิจการค้า ให้บริการข้อมูล ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและส่งเสริมการพัฒนาบุคคลากรในภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการค้า กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีการร่วมงานกับหน่วยงานของภาคเอกชนในโครงการส่งเสริมธุรกิจการค้าและบริการ โดยเน้นด้านการส่งเสริมสมรรถนะของธุรกิจการค้าและบริการขนาดย่อมเป็นครั้งคราว
ทางด้านการเงิน นอกจากธนาคารพาณิชย์ต่างๆแล้ว ก็มีธนาคารการพัฒนาวิสาหกิจกิจการขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีหน้าที่ในการช่วยเหลือทางด้านสินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ที่ให้บริการและสนับสนุนการด้านการเงินแก่ผู้ส่งออก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ที่ช่วยสนับสนุนทางด้านการเงินแก่กิจกรรมบริการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการค้าในสินค้าเกษตร บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ให้การค้ำประกันสินเชื่อธุรกิจขนาดย่อมที่ได้รับจากสถาบันการเงินต่างๆ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็มีการสนับสนุนให้กิจการขนาดเล็กจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนในตลาด สถาบันทางการเงินเหล่านี้ส่วนใหญ่มีแผนกที่ให้การสนับสนุนช่วยเหลือในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรในการบริการจัดการธุรกิจขนาดย่อม แต่มักมีขอบเขตของการดำเนินงานที่ค่อนช้างจำกัด
ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมเศรษฐกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รัฐบาลไทยจึงได้มีการตราพระราชบัญญัติส่งเสริมรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในปี ค.ศ. 2000 ในประเทศไทย ธุรกิจที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทและมีการจ้างงานไม่เกิน 50 คน ถูกจัดเป็นธุรกิจขนาดย่อม และธุรกิจที่มีขนาดการผลิตระหว่าง 50-200 ล้านบาท หรือมีการจ้างงานระหว่าง 50-200 คน ถือว่าเป็นธุรกิจขนาดกลาง แต่สำหรับธุรกิจการค้าปลีกที่มีการจ้างงานไม่เกิน 15 คน ถือว่าเป็นธุรกิจขนาดเล็ก และไม่เกิน 30 คน ก็ถือว่าเป็นธุรกิจขนาดกลางแล้ว สำหรับกิจการค้าส่งขนาดกลางกำหนดว่าไม่เกิน 50 คน และขนาดเล็กไม่เกิน 25 คน ตามนิยามนี้ ธุรกิจและบริการเกือบทั้งหมด ในประเทศตกอยู่ในข่ายธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมโดยในประเทศไทยมีธุรกิจบริการที่มีผู้ประกอบการและผู้ทำงานเพียงคนเดียวหรือธุรกิจส่วนบุคคลอยู่จำนวนมาก และอยู่กระจัดกระจายทั่วทั้งภูมิภาคของประเทศ   
การส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นภารกิจที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจภาคบริการของประเทศ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) มีหน้าที่การส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่กว้างขวาง ครอบคลุมทั้งธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมและบริการ สสว.มีหน้าที่เสนอแนะนโยบาย กำหนดแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการส่งเสริมธุรกิจ ทั้งในระดับภาพรวม รายสาขาและรายพื้นที่ และประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนในการดำเนินนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สสว.มีการสนับสนุนการศึกษาวิจัย และมีกิจกรรมที่มุ่งส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในเรื่องต่างๆ แต่หน้าที่หลักของ สสว.คือการนำเสนอการกำหนดนโยบายและการและประสานงาน ส่วนหน้าที่การส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ส่วนใหญ่ตกอยู่กับสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สพว.) ซึ่งมีบทบาทในด้านการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ โดยการให้ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับการประกอบการ ทั้งการบริหารจัดการและการพัฒนาบุคลากร สพว.จะร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ รวมถึงสถาบันทางการศึกษาทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ในการจัดทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
ในบรรดากิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมธุรกิจทางด้านการบริการ สิ่งที่สำคัญที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คือการส่งเสริมกิจกรรมทางด้านโลจิสติกส์ และการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่นิยมเรียกกันว่า“เศรษฐกิจดิจิตอล” (digital economy) คำว่า “โลจิสติกส์”(logistics) และ “ห่วงโซ่อุปทาน” (supply chain) เป็นคำที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในแวดวงธุรกิจในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ตามความหมายของคำที่บัญญัติโดยราชบัณฑิตยสถาน โลจิสติกส์ หมายถึง การจัดระเบียบการดำเนินการทุกด้านที่เกี่ยวข้องทั้งสินค้าและบริการให้มีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการขนส่ง การกระจายและการเก็บรักษา ส่วนห่วงโซ่อุปทานนั้น หมายถึงการเชื่อมโยงกันในหน่วยหรือจุดต่างๆในการผลิตและการขายสินค้าหรือบริการที่เริ่มต้นจากวัตถุดิบในขั้นแรกไปจนถึงจุดสุดท้ายคือลูกค้าหรือผู้บริโภค
ในประเทศไทย การบริการโลจิสติกส์แม้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ แต่ก็เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย มีผู้กล่าวว่า ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ที่สูงในประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย ต้นทุนโลจิสติกส์ที่สูงในประเทศไทยเกิดขึ้นในทุกขั้นตอนของการผลิตและการกระจายสินค้า ทั้งการเชื่อมโยงภายในกิจการตั้งแต่การจัดซื้อวัตถุดิบจนถึงการจัดส่งสินค้าสู่ผู้บริโภค และการเชื่อมโยงระหว่างกิจการตลอดห่วงโซ่อุปทาน การส่งสินค้าสู่ผู้บริโภคต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงจากต้นทุนการขนส่งที่สูง และการจัดการในขั้นตอนต่างๆยังไม่ค่อยมีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ให้เป็นประโยชน์
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ มีการกล่าวถึงการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน การพัฒนาบุคลากร การส่งเสริมธุรกิจทางด้านโลจิสติกส์ และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการจัดการโลจิสติกส์ แต่จากการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้งของรัฐบาลและนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสติกส์นี้ดูเหมือนว่ายังไม่มีการนำสู่การปฏิบัติอย่างชัดเจนมากนัก
อีกสิ่งหนึ่งที่หน่วยงานทั้งภาครัฐบาลและเอกชนมีการกล่าวถึงกันมากในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา คือเรื่อง เศรษฐกิจดิจิตอล (digital economy) โดยรัฐบาลหวังว่าจะใช้นโยบายเศรษฐกิจดิจิตตอลมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโต คำว่าเศรษฐกิจดิจิตอล หมายถึงเศรษฐกิจที่กิจกรรมต่างๆมีการอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นปัจจัยที่สำคัญในการดำเนินงาน เช่น มีการใช้ระบบคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ทอย่างกว้างขวาง มีโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคมที่มีพร้อมมูล และมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการผลิตและการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เหล่านี้
วัตถุประสงค์ของนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลก็คือการนำเอาเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับข่าวสารข้อมูลและการคมนาคมมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในสาขาต่างๆ ทั้งในเรื่องการผลิต การซื้อขายสินค้าและบริการ การบันเทิง ตลอดจนการกระทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันของประชาชน ประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลมีอยู่มากมาย ทั้งการอำนวยความสะดวกต่อการดำเนินชีวิตในมิติต่างๆ การลดต้นทุนการผลิต การซื้อชายสินค้า การผลิตสินค้าและบริการใหม่ๆออกสู่ตลาด การสร้างรายได้และการจ้างงาน ตลอดจนการเอื้อประโยชน์ในการเรียนรู้และการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ในยุคปัจจุบัน การซื้อขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ทที่รียกว่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรืออีคอมเมิร์ส(E-commerce) เป็นที่แพร่หลายกันมากในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและประเทศจีน ในประเทศไทย การซื้อขายสินค้าและการบริการโดยระบบคอมพิวเตอร์ก็ได้รับความนิยมและมีการแพร่หลายอย่างรวดเร็ว การแพร่หลายของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จึงเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจดิจิตอล
เพื่อการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล รัฐบาลมีการจัดตั้งกรรมการเศรษฐกิจดิจิตอลแห่งชาติขึ้น และมีการกำหนดนโยบายดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมบนพื้นฐานของการพัฒนา การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิตอลร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีเป้าหมายหลักคือการพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากรและ การบริหารจัดการ เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโดยการใช้เศรษฐกิจดิจิตอล โดยมีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งจะมีการเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงดิจิตอล เป็นแกนกลางในการดำเนินนโยบาย
แม้ในภาคบริการมีสาขาต่างๆที่มีลักษณะที่หลากหลาย แต่มีประเด็นยุทธศาสตร์ร่วมกันที่สำคัญ คือการเพิ่มผลิตภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน การส่งเสริมการพัฒนาบริการที่มีคุณภาพมาตรฐานที่สอดคล้องกับทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมของประเทศ สร้างปัจจัยพื้นฐานที่มีความจำเป็นต่อธุรกิจบริการ พัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพ และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศในการพัฒนาธุรกิจบริการทางด้านต่างๆ การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอลจึงเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ใส่ความเห็น