4. ผลกระทบของเศรษฐกิจจีนต่อเศรษฐกิจโลก

​การก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของจีนส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆของโลกหลายประการ ทั้งในมูลค่าการค้าและการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ ความต้องการในสินค้าและบริการ การใช้ทรัพยากรและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และมีผลต่อสภาพการแข่งขันระหว่างประเทศต่างๆทั่วโลก ทำให้โครงสร้างและดุลอำนาจทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคต่างๆของโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก​ผลสำเร็จจากการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน ทำให้ประชาชนจีนหลายร้อยล้านคนหลุดพ้นจากภาวะความยากจน ในปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่มีมูลค่าการค้าสูงสุดของโลก ประเทศต่างๆที่มีการส่งสินค้าออกเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจต่างหันมาให้ความสนใจปะเทศจีนมากขึ้น ในภูมิภาคอาเซียน เดิมสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญมากความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเหล่านี้มีส่วนช่วยเสริมสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่อประเทศอาเซียน แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาอัตราการขยายตัวทางการค้าโดยเฉพาะด้านการส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้ได้ตกต่ำลงมาจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศมหาอำนาจเหล่านี้ ในขณะที่การส่งออกไปจีนมีการขยายตัวที่สูงมากจนในปัจจุบันจีนได้กลายเป็นประเทศที่นำเข้าสินค้าจากอาเซียนเป็นอันดับหนึ่งแล้ว

​อาเซียนมีข้อได้เปรียบที่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ใกล้กับจีน เศรษฐกิจจีนนอกจากมีขนาดใหญ่แล้วยังมีความหลากหลายด้วยระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ และลักษณะทรัพยากรในภูมิภาคต่างๆของจีนมีความแตกต่างกัน ประเทศในอาเซียนทั้งที่มีรายได้สูงกว่าและมีรายได้ต่ำกว่าจีนล้วนมีโอกาสได้รับประโยชน์จากความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกับจีน การพัฒนาอุตสาหกรรมของจีนมีความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ เช่น แร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ไม้ยางพาราและมันสำปะหลังในปริมาณมาก ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจีนได้นำเข้าสินค้าเหล่านี้ในปริมาณที่มาก แม้กระทั้งข้าวซึ่งจีนผลิตได้มากที่สุดในโลก ก็ยังมีการนำเข้าจากไทยและเวียตนามในปริมาณสูง

​ทางด้านการลงทุน ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาจากนโยบาย “ก้าวออกไปข้างนอก” ของรัฐบาลจีน การลงทุนจากจีนในภูมิภาคต่างๆทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นในอัตราสูง ด้วยรายได้ที่สูงขึ้น ชาวจีนมีการหลั่งไหลออกมาท่องเที่ยวในประเทศต่างๆทั่วโลกมากขึ้น ซึ่งทั้งการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวล้วนมีส่วนช่วยเสริมสร้างรายได้และการจ้างงานในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในยามที่ภาวะเศรษฐกิจโลกมีความซบเซา ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนมีการชะลอตัวลง ซึ่งสร้างความกังวลให้แก่ประเทศต่างๆไม่น้อยและหวังว่าจีนจะมีมาตรการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจใหม่ๆออกมา

​นอกจากความสัมพันธ์ในทางการค้าและการลงทุนโดยตรงแล้วจีนยังเป็นประเทศที่ส่งออกเงินทุนในปริมาณมาก เช่น เป็นผู้ซื้อพันธบัตรในสหรัฐอเมริกาคิดเป็นมูลค่ากว่าล้านล้านเหรียญและให้ความช่วยเหลือทางการเงินในการสร้างสิ่งสาธารณูปโภคในประเทศต่างๆ

​สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน จีนเป็นประเทศที่นำเข้าสินค้าไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง และเป็นแหล่งที่มาของนักท่องเที่ยวมากที่สุดด้วย ในบรรดาประเทศต่างๆในอาเซียน ไทยเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์กับจีนที่แน่นแฟ้นมาก ไทยไม่มีข้อพิพาททางพรมแดนกับจีนเหมือนกับประเทศอาเซียนบางประเทศ รัฐบาลและประชาชนไทยไม่มีทัศนคติที่ขัดแย้งหรือระแวงต่อจีนในเรื่องการครอบงำทางเศรษฐกิจ การเมืองและความมั่นคง อย่างไรก็ดี การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับจีน ยังมีปริมาณที่ต่ำกว่าประเทศอาเซียนบางประเทศ เช่น มาเลเซียและสิงคโปร์

​ในช่วงเวลาข้างหน้า ประเทศจีนน่าจะมีบทบาทสำคัญในเวทีโลกมากขึ้น นอกจากอำนาจทางเศรษฐกิจแล้ว จีนยังมีบทบาทสำคัญในเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยจีนเป็นสมาชิกในกลุ่มความร่วมมือตามภูมิภาคต่างๆ เช่น กลุ่มประเทศบริคส์ (BRICS) ซึ่งประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีนและแอฟริกาใต้ กลุ่มความร่วมมือเอเชียแปซิฟิก (APEC) และกลุ่มความร่วมมือหุ้นส่วนเศรษฐกิจภูมิภาคหรืออาเซ็ฟ (RCEP) และมีการทำข้อตกลงทางการค้าอีกหลายประเทศทั่วโลก ในปี 2014 จีนเป็นตัวตั้งตัวตีมรการก่อตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาของกลุ่มบริคส์และธนาคารเอการพัฒนาสิ่งสาธารณูปโภคในเอเชีย (AIIB) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการปล่อยกู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการสร้างสิ่งสาธารณูปโภคและผลักดันให้มีการพัฒนาเส้นทางสายไหมทั้งทางทะเลและทางบก ซึ่งเชื่อมโยงไปสู่อาเซียกลาง ยุโรปและแอฟริกา และจีนจะมีการตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเหล่านี้ จะเห็นได้ว่าในเวทีการเมืองระหว่างประเทศนับวันจีนจะมีบทบาทมากขึ้น

 

​ประสบการณ์การพัฒนาเศรษฐกิจของจีนในการปฏิรูปและเปิดประเทศในช่วงกว่าสามทศวรรษที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง แม้ในปัจจุบันเศรษฐกิจจีนจะมีอัตราการขยายตัวลดลงไปมากและมีปัญหาทางเศรษฐกิจสังคมหลายประการ แต่ประสบการณ์ที่จีนสามารถพัฒนาจากประเทศที่ยากจนล้าหลังจนกลายมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่ควรแก่การศึกษา โดยเฉพาะสำหรับประเทศกำลังพัฒนาต่างๆที่มีความปรารถนาที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า

 

ใส่ความเห็น